“นางฟ้านิรนาม” ความหวังของพลโลก
เภสัชกรยิปซี ผู้อุทิศตนเพื่อผู้ป่วยเอดส์
บนโลกใบนี้ ประชากรโลกที่เรียกกันว่า “พลโลก” ต่างพร่ำร้องและพากันแสวงหาสิ่งที่จะสร้างความสุขให้เกิดแก่ตนเอง และหวังที่จะให้โลกสดใสไร้ซึ่งมลทินใดๆ ที่จะทำให้พลโลกต้องมารับเคราะห์กรรม แต่ดูเหมือนว่าความหวังในการแสวงหาไม่ได้หามาได้ง่ายๆ เหมือนอย่างเอามือหยิบช้อนเพื่อตักอาหารเข้าปาก ทั้งนี้เพราะคนบนโลกใบนี้ยังเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ความทยานอยากที่ไม่รู้จักจบสิ้น
กลยุทธ์เล่ห์เหลี่ยมกลโกง จึงมักจะถูกสร้างขึ้นมาใช้ในสังคมอยู่มิได้ขาด จนทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันอยู่ในสังคม โดยไม่นึกถึงคุณธรรมดังที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายการใช้สิทธิบัตรยา ที่ทำให้ยารักษาโรคต้องมีราคาสูงขึ้นจนคนยากจนไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงยาที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อคนจนหมดโอกาสในการนำเอายามารักษาโรคตนเองได้ (เนื่องจากมีราคาแพง) สุดท้ายชีวิตของคนจนก็เป็นที่ชีวิตที่ไร้ค่า ที่ จะต้องตายเมื่อไรก็ต้องยอมรับในกติกานั้น
ปัจจุบัน มีโรคร้ายแรงมากมายทั้งที่เกิดใหม่และเกิดมานานแล้ว สังคมจึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ยาที่มีคุณภาพที่มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ๆ แต่เมื่อยาเหล่านี้ถูกกฎหมายสิทธิบัตรควบคุมอยู่ ยาเหล่านี้จึงถูกกำหนดให้มีราคาสูงเท่าไรก็ได้เพราะอำนาจอยู่ในมือของเขา
แม้ความเท่าเทียมบนโลกมนุษย์อาจเป็นเพียงสิ่งเพ้อฝันของนักอุดมคติ ที่เราไม่อาจเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ดั่งใจ แต่นั่นน่าจะหมายถึงคนละประเด็นกับการเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยาในยามเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะไม่ว่าคนจะยากจนหรือรวยล้นฟ้า แต่เมื่อยามป่วยไข้ทุกคนย่อมอยู่ในสถานะเดียวกันหมด นั่นคือต้องได้รับการเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน แต่ทำไม?? ในโลกแห่งความเป็นจริง เราถึงมีสิทธิ์เข้าถึงยาและการรักษาได้ไม่เท่ากัน!! “คุณจะเข้าถึงยาได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณมีเงิน แต่ถ้าไม่ (มีเงิน) คุณก็รอวันตายไปแล้วกัน” มันช่างเป็นคำพูดที่เจ็บกระดองใจเหลือเกิน
จะมีใครมาลบล้างความอยุติธรรมนี้ออกไปจากพลโลกได้หรือไม่??
มีไหม? คนจะเป็นผู้นำ? ใครจะเป็นผู้ยอมเสียสละเพื่อให้คนทุกฐานะมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการดูแลรักษาตัวเอง?
มีผู้ใช้ความพยายามในเรื่องนี้มามากกว่าสิบปีแล้ว และวันนี้เขาก็ยังใช้ความพยายามอยู่ ขอเพียงแค่ให้คนอื่นๆ ช่วยกันเป็นแรงกาย แรงใจ สนับสนุนให้ความฝันกลายเป็นความจริงขึ้นมาโดยเร็ววัน
เขาเป็นใคร เขาต่อสู้อย่างไร และเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้างในช่วงสิบยี่สิบปีที่เขาต่อสู้มา ถ้าอยากรู้ อยากศึกษาชีวิตของ “คนผู้กล้าเสียสละผู้นี้” เข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวชีวิตของเขาได้ในละครที่ภาควิชาศิลปการละคร อักษรฯ จุฬาฯ ร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกันทำละครเวทีเรื่อง “นางฟ้านิรนาม” ซึ่งจะแสดงวันที่ 20 – 30 สิงหาคม 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จำหน่ายบัตรที่ภาควิชาฯ 02-218-4802 และศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์และจัตุรัสจามจุรี
ละครเวทีเรื่องนี้ สร้างจากเรื่องราวชีวิตของ “เภสัชกรยิปซี” ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ละครลำดับที่ 2 ในโครงการจัดหาทุนสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในการก่อสร้างศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล
ติดตามชีวิตของ “นางฟ้า” ผู้อุทิศตนเพื่อผลิตยาให้ผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยเอดส์นับล้าน ผ่านละครเวทีสอดแทรกอารมณ์ขันชั้นเยี่ยม ตีแผ่ความจริงที่คุณอาจคาดไม่ถึง ทั้งความโลภของบริษัทยาหน้าเลือดที่หากินกับชีวิตผู้คน ข้าราชการฉ้อฉล นักการเมืองปลิ้นปล้อน และการต่อสู้ของกลุ่มคนที่พยายามสานฝันให้คนเข้าถึงยาถ้วนหน้า
“นางฟ้านิรนาม” ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คือ เภสัชกรไทยผู้คิดค้นยาต้านไวรัสเอดส์สูตรรวมเม็ด อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม และที่ปรึกษาด้านเภสัชกรรมขององค์กร Action Medeor เพื่อช่วยเหลือประเทศในแอฟริกา เจ้าของรางวัล A Gold Medal at Eureka 50th World Exhibition of Innovation, Research and New Technology ซึ่งนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ ยกย่องให้เป็น บุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี พ.ศ. 2551 และผู้รับรางวัลแมกไซไซประจำปี 2552 คนล่าสุด ระหว่างการทำงานเธอต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องการไปขัดการแสวงหาประโยชน์ของข้าราชการบางคน ต้องต่อสู้กับความละโมบของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่หากินกับชีวิตและความตายของคน ต้องผจญกับนักการเมืองวิสัยทัศน์สั้น แคบ และปลิ้นปล้อน กระทั่งต้องอยู่ท่ามกลางสงครามล้างเผ่าพันธุ์ แต่สิ่งที่ทำให้เธอก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ คือ จิตใจที่มุ่งมั่นในการทำเพื่อผู้อื่น
“นางฟ้านิรนาม” ใช่เพียงละครที่เชิดชูวีรกรรมของหญิงนักสู้คนหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนโลกใบใหญ่อันโหดร้ายแสนสาหัส ที่การต่อสู้เพื่อสานฝันให้ประชาชนเข้าถึงยาถ้วนหน้า ต้องถูกตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ โดยมี “ระบบสิทธิบัตร” เป็นเสมือนอาวุธร้ายทำลายความฝันเหล่านั้น…
คนจำนวนมากถูกปล่อยให้ตายไป ทั้งที่มียารักษาพวกเขาได้ เพียงเพราะพวกเขาถูกแขวนป้ายความ “จน” เท่านั้น และไม่ว่าจะผ่านไปแล้วสักกี่สิบปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประเทศไทย และอีกหลายสังคมบนโลกบิดเบี้ยวใบนี้ ที่พวกเราต้องไปรับชม และ ช่วยกันสืบสานเจตนารมย์ของเธอให้เป็นจริงเสียที
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update 26-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่