นาของพ่อเมล็ดพันธุ์ความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง" หมู่บ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงพึ้นที่ในโครงการ "ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง" หมู่บ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพึ่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนชนเผ่าพึ้นเมือง ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและ ความเปนอยู่ที่ยั่งยืน ด้วยศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และที่ปรีกษากรมอนามัย กล่าวว่า สสส.ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ลีซูชุมชนปางสา เยี่ยมชม "สวนผักของพ่อ" ดูกิจกรรม โครงการอาหารกลางวันจากศาสตร์พระราชาที่โรงเรียนบ้านปางสา เรียนรู้การจัดการระบบชลประทานของพ่อ และเยี่ยมชมพื้นที่ "นาของพ่อ" สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนเผ่า สสส.จึงร่วมสนับสนุนผลักดันให้มีการพัฒนาทางด้านโภชนาการทางอาหาร และความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนทางด้านสุขภาพตามรอยพระราชาสืบต่อไป
อาจารย์สง่า กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2522 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาที่หมู่บ้านปางสาทอดพระเนตรเห็นถึงความลำบากของคนในหมู่บ้าน จึงพระราชทานที่ดินทำกินให้กับชาวชาติพันธุ์ไร้สัญชาติ ในหมู่บ้านปางสา ได้มีพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งมอบศาสตร์ของพระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยให้ผู้มีความรู้มาสอนวิธีทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา สอนวิธีทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา และรู้วิธีจัดสรรไว้กินภายในครัวเรือนและนำไปขาย หารายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หารายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อาจารย์สง่า อธิบายว่า การเดินตามรอยพระราชา ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย หรือสามารถทำอะไรตามใจชอบได้ ทุกอย่าง ต้องมองย้อนกลับไปว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงมอบให้กับชาวชาติพันธุ์ไว้ คือการเกษตรแบบพอเพียง ทำให้มีข้าว ปลา อาหาร กินตลอดปี มีฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้โดยไม่แห้งแล้ง ดั่งพระบรมราโชบายในการช่วยเหลือราษฎรที่ทรงเน้นความสำเร็จของงาน ที่ความอยู่ดีกินดีของราษฎร มากกว่าความคุ้มค่าในแง่ที่วัดเป็นตัวเงิน เรียกว่า ขาดทุนคือกำไร
นายสุพจน์ หลี่จา หรือจะแฮ นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาพสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ และโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สสส. เล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งมีกลุ่มชนชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ 7 ชาติพันธุ์ ได้แก่ อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ลั๊วะ ลีซอ จีนยูนาน และม้ง ตอนนั้นจำความได้ว่าตนอายุประมาณ 8 ปี ทรงให้ความเป็นกันเอง เสวยอาหารร่วมกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ต่างๆ และเห็นถึงความลำบากในหมู่บ้าน ทั้งเรื่องความเป็นอยู่และไร้สัญชาติ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตนเองได้ ท่านทรงพระราชทานที่นาทำกินจำนวน 200 ไร่ ให้แก่ชาวชนเผ่า โดยมีวิธีการแบ่ง เช่น หนึ่งครอบครัวมีจำนวน 5 คน ก็จะได้ที่ดินทำกิน 5 ไร่ รวมถึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างฝาย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการทำนาตลอดปี
"ทุกวันนี้ชาวปางสา ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ มีความสุขมาก เพราะสิ่งที่ท่านทรงมอบให้นั้นมากมายจนพูดออกมาได้ไม่หมด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่การทำเกษตรเพียงอย่างเดียวท่านทรงสอนให้มีความรัก ความเมตตา เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สอนให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ อีกทั้งยังสอนให้มีองค์ความรู้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว โดยอยู่บนความพอเพียงและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ต้องขอบคุณ สสส. ที่ได้จัดหาบุคลากรมาให้ความรู้และร่วมสนับสนุนขับเคลื่อนในเรื่องศาสตร์พระราชา เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันสิ่งที่ดีต่อกันโดยไม่หวังผลกำไร ถึงแม้วันนี้ท่านจะไม่อยู่แล้วก็ยังมีกลุ่มคน และหน่วยงานที่ยังไม่ทิ้งสิ่งที่ทรงสร้างไว้ ยังร่วมเดินตามรอยพระราชาสืบเนื่องไป" นายสุพจน์กล่าว
นายจะทอ จะลู ชาวชนเผ่าลาหู่ หนึ่งในบุคคลที่ได้รับมอบที่นาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เล่าว่า ครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น 5 คนได้รับมอบที่นาจำนวน 5 ไร่ นับถึงปัจจุบันได้ใช้ที่นาทำกินมากว่า 35 ปี รู้สึกภูมิใจมากที่ได้รับพระราชทานที่นาแห่งนี้ เพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำนาใน 1 ปี จะได้ข้าวจำนวน 280-300 ถัง แบ่งไว้กินประมาน 100 ถัง และแบ่งขายอีก 200 ถัง ทำให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวตลอดมา น้ำที่ใช้ทำนาก็ได้จากฝายเก็บน้ำที่ท่านทรงมีพระราชดำริให้สร้าง เพื่อให้ชาวชนเผ่าได้ใช้ทำกินและใช้อุปโภคบริโภค
ปัจจุบันประเทศไทยมีชาวชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ ชายขอบของประเทศไทยจำนวน 4,284,702 คน หรือ ประมาณ 6% ของจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้ขาดแคลนทางด้านอาหาร การศึกษา และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ลำบาก ไร้ซึ่งอาชีพ และที่ดินทำกินที่เป็นของตนเอง