“นักสื่อสาร” ที่สร้างสรรค์
อีกหนึ่งเครื่องมือขับเคลื่อนปฏิรูป
5 มีนาคม “วันนักข่าว” ของทุกปี อาจจะแทบจะไม่ได้แตกต่างอะไรเลยกับวันอื่นๆ ทั่วไป เพราะในฐานะสื่อมวลชน พวกเรายังคงต้องทำงานปกติ และขอโทษที ..เรามิได้มีโอที หรือเงินพิเศษเนื่องในวันหยุดแต่อย่างใด
55 ปี วันนักข่าวในปีนี้ คุณค่าความหมายจึงเป็นเสมือนแค่สัญลักษณ์ที่เวียนมาแล้วก็ผ่านไป ..สำหรับผม
แต่ถ้าความเห็นดังกล่าว “ขัดเคืองใจ” ใครล่ะก็ ผมก็ต้องบอกว่า มันคือ “อิสรภาพแห่งความคิด” นะขอรับ
เฉกเช่นเดียวกับทุกๆ เวทีงานอภิปราย งานเสวนา งานระดมสมอง งานขับเคลื่อนความคิดทั้งหลาย ที่มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า..
ถ้าสื่อสารมวลชนบ้านเรา ให้พื้นที่กับข่าวที่สร้างสรรค์นำเสนอเรื่องราวที่พัฒนาองค์ความรู้ของสังคม ประเทศไทยคงจะปฏิรูปสู่ประเทศที่น่าอยู่ และขับเคลื่อนสู่ประเทศประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาได้ โดยไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของความขัดแย้ง หรือความเห็นแก่ตัวใดๆ ของคนบางกลุ่มแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผมขอสารภาพว่า รู้สึก “หงุดหงิด” ในหัวใจ จนต้องเกาหัวแกรกๆ ทุกครั้งเลยครับ เพระแนวคิดตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่พึงปรารถนาในโลกปัจจุบันนี้ สร้างภาวะความรู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้เป็น “จำเลย” สังคมยังไงชอบกลอยู่ แม้ผมจะยอมรับข้อเท็จจริงว่า สื่อมีอิทธิพลต่อประชาชนก็ตาม
ผมเห็นด้วยครับว่า สื่อมวลชน ต้องมีหน้าที่หลักในการสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อผลักดันวาระที่สำคัญต่อการพัฒนา และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ
เพราะโลกทุกวันนี้ “สื่อ” ไม่สามารถจำกัดหรือขีดวงตัวเองให้อยู่กับแค่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร รายงานว่า…ใคร? ทำอะไร! ที่ไหน? เมื่อไหร่? และอย่างไร?!? ..เท่านั้นอีกแล้ว ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้โลกแคบเหลือแค่นิ้วคลิกก็ทะลุทะลวงไปทั่ว ทุกคนสามารถเสพข่าวได้แม้กระทั่งในห้องนอน หรืออยู่ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว
แต่ผมก็อยากจะให้นักเคลื่อนไหว นักปฏิรูป และกลุ่มคนสถาบัน ที่เพียรพยายามหากลไกขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นจริงตามเป้าหมาย โดยฝากความหวังไว้กับ “สื่อ” อย่าลืมข้อเท็จจริงว่า อาชีพสื่อ หรือธุรกิจสื่อสารมวลชนนั้น ก็มีองค์ประกอบที่ไม่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่ต้องมีแผนนโยบายต้องปฏิบัติและดำเนินการให้สนองตอบตามปรัชญาและอุดมการณ์ของตนเอง
ผมไม่อยากให้เห็น “สื่อ” เป็นอภิสิทธิ์ซนที่ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นเลยครับ แต่ผมอยากเห็นท่านทั้งหลายซึ่งหวังฝากผีฝากไข้กับสื่อ ด้วยคำว่า “จิตสำนึก” หรือ “จรรยาบรรณ” ตระหนักรับรู้และเข้าใจว่า เราเป็นคนไทยที่รักและอยากเห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้า พัฒนาสู่ทิศทางที่พึงปรารถนา เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ด้วยการที่ประชาชนรู้จักทั้งสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน
สื่ออยากเป็นกลาง และอยากเป็นเครือข่ายที่สร้างความร่วมมือในการพัฒนาเผยแพร่ไปสู่มวลชน ไม่มากไม่น้อยไปกว่า การทำหน้าที่เป็นปากเสียงสะท้อนความต้องการจากสาธารณะ เพื่อกระตุ้นเตือนและก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า
สื่อพร้อมที่จะทำหน้าที่พลเมืองไทยที่ดีตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ แต่อย่างไรก็ตามการที่ “สื่อ” ไม่ได้สนองตอบหรือให้ความสนใจไม่เพียงพอเท่าที่นักวิชาการ นักปฏิรูป นักเคลื่อนไหวอยากเห็นอยากให้มี เพื่อเป็นแรงผลักขับเคลื่อนปฏิรูปในทุกภาคส่วนของสังคมนั้น ก็ไม่ควรเหมารวมแข่งว่า “สื่อ” ของไทยปราศจากจิตสำนึกและความสร้างสรรค์ในการทำหน้าที่
บ้างก็เล่นแรงถึงขั้นกล่าวหาว่า ..นักข่าววันนี้มีสมองแต่ปราศจากมันสมอง
ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องว่า “สื่อ” ควรจะสร้างระบบการสื่อสารที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากกว่าในปัจจุบัน…เป็นเรื่องที่ต้องทำครับ ผมเห็นด้วย
แต่กลไกการขับเคลื่อนสังคมอุดมการณ์ หากมอบให้เป็นโจทย์ปัญหา หรือภาระของ “สื่อ” โดยคิดตามตรรกะว่า “สื่อสารมวลชน” สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารไปในวงกว้างในทีเดียวนั้น ผมว่าความสำเร็จการปฏิรูปก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “กลไกการศึกษา” เป็นรากฐานที่จะสร้างคนคุณภาพ อันเป็นกิ่งก้านสาขาหรือมือไม้ที่สะสำแดงพลังในการสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคม
ลำพัง “สื่อ” ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ หากขาด “ข้อมูล” หรือองค์ความรู้ขั้นปฐมภูมิ เพื่อนำไปกระจายต่อ อันจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมสู่การปฏิรูป นำสู่ขั้นตอนทุติยภูมิ ตติยภูมิหรือสู่การพัฒนาสูงสุดอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นพึงพอใจ
โอกาสนี้ผมจึงขอโยนโจทย์ปัญหานี้คืนไปสู่สังคมทุกฝ่ายที่อยากเห็นประเทศสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีว่า ท่านทั้งหลายลงมือทำกันให้เป็นแบบอย่าง เพียงพอจะเป็น “ข่าว” ให้เราได้นำเสนอ เพื่อบอกเล่าเก้าสิบ และชี้ทางให้สังคมได้รับรู้เพื่อการดำเนินกิจกรรม หรือธุรกรรมตามทิศทางที่ได้สะท้อนความสำเร็จและความถูกต้องเหมาะสมหรือยัง เพราะอาชีพสื่อสารมวลชน คงไม่สามารถจะนั่งรอข่าวหนึ่งข่าวใดหรือข่าวเดียวได้ตลอดทุกวันทุกเดือน โดยข้ออ้างเพียงว่า ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ไม่สร้างสรรค์เท่ากับข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวการเมืองเรื่องความขัดแย้งของคนสองสี เป็นเรื่องน่าเบื่อ และรุนแรงจนหยุดไม่อยู่เกิดจาก “สื่อ” ไร้สำนึก ไม่ทำหน้าที่สื่อที่ดี
ศึกษาจากกรณีความสำเร็จของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของอาจารย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่กระตุ้นคนให้หันมามองความสำคัญของเรื่องนี้ ท่ามกลางกระแสความเท่ห์ของคนคีบบุหรี่ในมือ และการต่อสู้กับนายทุนยักษ์ใหญ่ข้ามโลกสิครับ เขาทำอย่างไรให้สื่อช่วยกระพือข่าวอีกแรง
ผมอยากสรุปว่า ในเมื่อมองเห็นความสำคัญของ “สื่อ” ผู้อยากเห็นสังคมสร้างสรรค์ ก็ต้องมีบทบาทต้องสำแดง สร้างกลไกที่ระบบน่าสนใจป้อนข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ทำหน้าที่สื่อสารด้วยเช่นกัน เพราะ “สื่อ” ก็ต้องขายข่าวเพื่อความอยู่รอดนะครับ สื่อไม่สามารถอยู่ได้เป็นเอกเทศโดยแหกกฎธรรมชาติว่าด้วยความอยากรู้อยากเห็นของชาวบ้านหรอกคร้าบบบบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 18-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์