นักวิชาการแนะเข้ม กม.คุมน้ำตาล
ชะลอภาวะอ้วนคนไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำร่างและแผนปฏิบัติการพัฒนาความเข้มแข็งของกระบวนการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดย รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อาจารย์ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี แนวโน้มของเด็กไทยที่จะเป็นโรคอ้วนและเตี้ยมีมากขึ้น จากผลการสำรวจสุขภาพประชากรไทย พ.ศ.2539-2552 เด็กปฐมวัย พบว่าอ้วน 6% มาเป็น 8% เด็กวัยเรียน 6% มาเป็น 10% ส่วนผู้ใหญ่ จากปี 2534 ผู้หญิงจะอ้วนมากกว่าผู้ชาย โดย 43% ของผู้หญิงอ้วน ส่วนผู้ชาย 30.8%
ขณะที่ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่าเด็กไทยอายุ 1-14 ปี 540,000 คน หรือร้อยละ 4.7 มีน้ำหนักเกินและอีก 540,000 คนหรือ 4.6% อยู่ในภาวะอ้วน และประมาณ ¼ หรือ 135,000 คน เสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากการบริโภคอาหารอย่างไม่ถูกวิธี และไม่สมดุลกับการเผาผลาญ โดยมีแต่การรับประทานพลังงานเข้าไป แต่ไม่ได้ถูกใช้ออกมา ซึ่งในฐานะที่ดูแลคนไข้จากประสบการณ์พบว่า เด็กอ้วนอายุเพียง 3 ขวบ ต้องได้รับการผ่าตัดให้หายใจได้คล่องขึ้น และที่อายุน้อยที่สุดที่เคยพบ คือ 1-2 ขวบเดินไม่ได้ เพราะอ้วนมากเกินจนขาโก่ง เดินแล้วล้ม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากภาวะการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกวิธีและไม่ออกกำลังกาย ประกอบกับการเลี้ยงดูในปัจจุบันที่ใช้ขนมเป็นตัวปลอบเด็กเวลาเด็กร้องไห้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องตระหนักถึงปัญหาและเลี้ยงดูบุตรหลานให้ได้รับสารอาหารครบตามวัยที่เหมาะสม
รศ.พญ.ลัดดา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้พบว่าเด็กอ้วนที่นอนกรน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในเวลานอนเพื่อป้องกันการหยุดหายใจ พบมากขึ้น โดยเด็กอายุต่ำสุดที่พบคืออายุประมาณ 2-3 ขวบ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้หากลดความอ้วนได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัว สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนในเด็ก คือ อาหารเสริมสำหรับทารกที่ขายในท้องตลาด มีน้ำตาล 8–16.3% ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กติดหวาน ดังนั้นการกินนมแม่ดีที่สุดเพราะสามารถลดอ้วนได้ 7–24% ส่วนการดูโทรทัศน์ 1 ชม.ทุกวันจะเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วนได้ถึง 12% ขณะที่การเดินทางก็ส่งผลอ้วนเช่นเดียวกัน โดยเวลาเดินทางที่ใช้อยู่ในรถที่เพิ่มทุก 1 ชั่วโมงก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วนขึ้น 6% ในทางกลับกัน ความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลดลง 4.8% ต่อทุก 1 กิโลเมตรที่เดินเพิ่มขึ้นต่อวัน
รศ.พญ.ลัดดา กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการแก้ไข คือ การออกกฎหมายที่คุมเฉพาะเรื่องการเติมน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมในอาหารของเด็ก เหมือนกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ที่ 286 ห้ามเติมน้ำตาลในนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี, การจัดทำองค์ความรู้ที่เข้าใจง่ายให้กับท้องถิ่นสามารถนำไปแปรผลต่อประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญผู้ที่จัดทำองค์ความรู้จะต้องเป็นผู้ที่ต้องเท่าทันสื่อใหม่ๆ ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าภาวะอ้วนของคนไทยน่าจะชะลอลง
ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th
Update : 24-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร