นักวิชาการแนะปฏิรูปหลักสูตร

สอดรับคำขวัญวันเด็ก

          

นักวิชาการแนะปฏิรูปหลักสูตร

 

          คำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2499 ในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนผ่านเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้คำขวัญว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” เมื่อพิจารณาให้ดี คำขวัญวันเด็กจะสะท้อนบุคลิกภาพ ค่านิยม ความรู้สึกนึกคิด ปรัชญา ความต้องการให้เป็นเอกลักษณ์เด่นของผู้นำประเทศผ่านตัวอักษร คำคม ข้อควรคิด ลงไปสู่เด็กและเยาวชนในยุคนั้นได้

 

          ในปี พ.ศ.2504 จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้าจงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย ในยุคนั้นค่อนข้างเผด็จการ  มีวินัย เด็ดขาด

 

          พ.ศ.2530 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อถือคุณธรรม เวลานั้นเน้นเรื่องเอกลักษณ์และระบบคุณธรรมไทย

 

          พ.ศ.2544 นายชวน หลีกภัย มีวินัยใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตยสะท้อนความเป็นบุคคลประชาธิปไตยค่อนข้างสูง

 

          พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ.2546 เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี ในเวลานั้นเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ คิดใหม่ การใช้ระบบสื่อสารทันสมัย

 

          พ.ศ.2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝันผูกพันรักสามัคคี ที่นำความฝันมาสู่นโยบายเฉลียวฉลาด ต้องการความปรองดอง และอื่นๆ

 

          ในภาพรวมคำขวัญวันเด็กล้วนเป็นคำคม คำนิยมที่เป็นคุณลักษณะสำคัญที่เด็กไทยควรมีควรปฏิบัติ คุณธรรมที่ควรปลูกฝัง อบรมสั่งสอน สิ่งที่ควรตระหนักและถ้าเราลงมือปฏิบัติจริง กลไกของรัฐครอบครัว สังคม ชุมชน สื่อมวลชนช่วยกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจะได้คุณภาพเด็กและเยาวชนเติบใหญ่ขึ้นเป็นกำลังสำคัญที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน

 

          วันเด็กจึงเป็นเพียงวันเดียวที่เด็กสามารถมีสิทธิเด็กเต็ม 100% ที่ผู้ใหญ่ใส่ใจความรู้สึก ความต้องการ จินตนาการด้วยการซื้อของขวัญของเล่น พาไปเที่ยวและอื่นๆ

 

          ในทางตรงกันข้าม หลังคำขวัญวันเด็กอีก 364 วัน เราทำอะไรเพื่อเด็กและเยาวชนบ้าง

 

          ในสภาพวิกฤตของสังคมไทยยุค”เหวี่ยง ผลัก หลอม” “ท้อง แท้ง ทิ้ง””ซิ่ง ซ่า เซ็กซ์” ล้วนเป็นคำสะท้อนนัยยะความเหลวแหลกของผู้ใหญ่ นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่ล้วนแต่สร้างระบบสังคมไทยเหวี่ยงไปสุดขั้วของทุนนิยม บริโภคนิยม กระแสคลั่งไคล้ ผลักเด็กออกจากระบบโรงเรียน ครอบครัวชุมชน ศาสนา อย่างน่าตกใจ หล่อหลอมเด็กด้วยยาเสพติด สื่อเร้าทางเพศ ความรุนแรง วัตถุนิยม จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ความเน่าเฟะของสังคมไทย

 

          ดังเช่นกรณีศึกษาสังคมวัดไผ่เงินซากทารก 2,002 ศพ เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่2 กระทำผิดสูงสุด ลักทรัพย์ ติดยาเสพติดทำร้ายร่างกายกว่าปีละ 150,000 คนเด็กติดยาบ้าอย่างรุนแรงกำลังกลับมา เด็กติดเกมเล่น BB อย่างบ้าคลั่งวันละ 5-6 ชั่วโมง และอื่นๆ

 

          นี่คือ 364 วันอันตรายที่ผู้ใหญ่คิดว่ามันไม่ใช่วันเด็กแต่แทบทุกวันล้วนเสี่ยงสุดสุดของเด็กไทยในยุคนี้

 

          การมีคำขวัญวันเด็ก แม้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี เด็กๆ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นเสนอข้อความที่ต้องการของเด็กเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงนำสาระของคำขวัญ”รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ”มาแปลงเป็นการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้กลุ่มองค์กรเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียนสภาเด็กท้องถิ่น องค์กรนิสิตนักศึกษาเข้ามามีบทบาทในการช่วยกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ มีผลกระทบกับชีวิตเด็กและเยาวชนมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราต้องให้เด็กและเยาวชนรู้จักรอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ ควรส่งเสริมในนโยบายของรัฐต่อไปนี้

 

          1.รื้อโครงสร้าง ปฏิรูประบบหลักสูตรการเรียนรู้ใหม่ ครูปรับบทบาทเป็นครูวิทยากระบวนการ ร่วมคิดพัฒนาโจทย์”ความเป็นพลเมือง”ผ่านปัญหาของชุมชนท้องถิ่น เรียนผ่านโครงงาน กิจกรรมต่างๆเด็กจะรู้รอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะค่อยเป็นค่อยไป รอบคอบในระบบข้อมูล ไม่ถูกชักจูงโดยง่าย เรียนด้วยอาการใฝ่ดี ใฝ่รู้ขยันค้นคว้า คิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออกจนสุดท้ายตกผลึกการเป็นพลเมืองดี รู้จักสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ จิตสำนึกประชาธิปไตยในที่สุด

 

          2.นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาทดแทนเศรษฐกิจมหภาคทุนนิยมให้เด็กรู้จักความพอเพียง มีปรัชญาชีวิตตนเองพึ่งตนเองได้ เด็กไทยเรียนหนังสือต้องทำงานเป็น เป็นคนดี บูรณาการให้ครบทุกด้าน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม ต้องปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การบังคับใช้กฎหมาย นโยบายด้านยาเสพติดต้องเด็ดขาด ต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง กำจัดสื่อลามกอนาจรให้หมดไปจากท้องตลาดอบายมุขต่างๆ ให้ห่างไกลเด็กและเยาวชนลดความรุนแรงแทรกเซ็กซ์จากละครน้ำเน่าตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ รัฐบาลต้องชัดเจนนโยบายภาคสังคมกว่านี้ มิใช่ปล่อยปละละเลยดังเช่นในปัจจุบัน

 

          3.นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการด้านสังคมแทบทุกชุด แต่ปรากฏว่านโยบายภาคสังคม คุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน การศึกษา วัฒนธรรมแทบไม่มีบูรณาการกันเลย ต่างกระทรวงยึดองค์กรและงบประมาณของแต่ละหน่วยงานเป็นหลัก

 

          ผลที่เกิดขึ้นคือ นโยบายเดียวกันแต่ต่างคนต่างทำ ใช้งบประมาณสูงมาก แต่ผลการเปลี่ยนแปลงมีน้อยจนสังคมวิ่งตามไม่ทันปัญหาที่ซับซ้อนหนักขึ้นทุกวัน รัฐมนตรีปลัดกระทรวง ข้าราชการระดับสูง ไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาของเด็กและเยาวชนมากนัก การแก้ไขจึงติดกรอบ ล่าช้า และมุ่งแก้เป็นประเด็นปัญหา เฉพาะหน้าที่เป็นข่าวคราวเสียมากกว่า โหมประชาสัมพันธ์แบบไฟไหม้ฟาง กรณีรุนแรงหมดกระแสวิธีการแก้ไขก็หยุดตามทุกครั้ง โครงสร้างระบบสังคมไทยจึงอมปัญหาแทบทุกด้านจนยากแก่การเยียวยาให้ดีขึ้นได้

 

          ขอคำขวัญวันเด็กปีนี้ ต้องยกระดับความเป็นธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมา จงนำไปสู่นโยบาย บูรณาการลงมือปฏิบัติการเข้มงวด ติดตามเอาจริงเอาจัง

 

          คำขวัญวันเด็กจึงจะมีความหมายและคุณค่าต่อเด็กไทยทุกคนอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน

          คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Update : 06-01-54

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code