“นักวิชาการชุมชน” ฟันเฟืองสำคัญ ร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่

“นักวิชาการชุมชนท้องถิ่น” เป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ การเสริมพลังความรู้ ยกระดับนักวิชาการชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 กล่าวในการประชุมปฏิบัติการ “เสริมพลังความรู้แก้วิกฤต โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง” โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ในเวที “สานงานเสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 300 องค์กร ว่าความเป็นนักวิชาการไม่ได้ไกลตัวคนท้องถิ่น เพราะคนเหล่านี้ล้วนมีความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้และนำไปสู่การเป็นนักวิชาการชุมชนท้องถิ่นได้

“ความเป็นวิชาการที่หายไปจากชุมชนท้องถิ่นคือ การพึ่งแหล่งองค์ความรู้ทางวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆที่อยู่ใกล้ชุมชน ซึ่งมีใกล้ตัวเยอะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการค้นคว้า นำไปสู่การประยุกต์ใช้จริงของนักวิชาการแต่ละคน แต่ความยากอีกอย่างหนึ่งคือการยอมรับความเป็นวิชาการเข้ามาใช้ในชุมชน”

ดังนั้น นอกจากการจัดการข้อมูลที่ดีแล้ว ยังต้องสร้างการยอมรับของสมาชิกชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย จึงจะนำการพัฒนาที่ดีมาสู่ชุมชน

รศ.ดร. ขนิษฐา นันทบุตร  คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่เห็นด้วยว่าการพัฒนาศักยภาพของนักวิชาการชุมชนท้องถิ่นไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่ง หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่ต้องมองปัญหาโดยรวมมองวิกฤตทั้งหมดเป็นเรื่องของตัวเอง

“ชุดเครื่องมือที่จะนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ 1. ท้องไม่พร้อม 2. การดูแลสุขภาพโดยชุมชน 3. อาหารปลอดภัย  4. สุขภาพของผู้สูงอายุ  5. สารเสพติด (แอลกอฮอล์ยาสูบ)  6. ครอบครัวอบอุ่น 7. ภัยพิบัติ  8. อุบัติเหตุจราจรซึ่งสถานการณ์ของวิกฤตที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชุมชนเองก็มองเห็นรู้จักและเข้าใจส่วนหนึ่ง แต่หลายท่านก็อาจจะเข้าใจไม่เหมือนกัน”

รศ.ดร. ขนิษฐาทิ้งท้ายว่า ภารกิจของนักวิชาการชุมชนท้องถิ่นที่สำคัญนอกจากการดูแลชุมชน ยกระดับชุมชน ดูแลทุกข์สุขของประชาชนแล้ว ยังต้องช่วยกันในการที่จะใช้องค์ความรู้ต่างๆไปสู่การยกระดับราษฎรสู่ความเป็นพลเมือง  ถ้าประชาชนในทุกพื้นที่มีความเข้มแข็ง รากฐานของประเทศมีความแข็งแรงในที่สุดสอดคล้องกับ ข้อมูลของ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์  ขาวสะอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)พูดถึงการสร้างนโยบายสาธารณะว่าการสร้างสังคมสุขภาวะให้คนไทยมีชีวิต

ความเป็นอยู่ที่ดีในทุกมิติ ต้องอาศัยนโยบายสาธารณะที่ดีและเบื้องหลังทุกนโยบายควรมีข้อมูล ข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐานแต่ถ้านโยบายถูกพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถนำพาสังคมไปสู่สังคมสุขภาวะได้ ซึ่งนโยบายสาธารณะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1.นโยบายระดับพื้นที่ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ  2.นโยบายระดับวิกฤตเช่น ปัญหาน้ำท่วม และ 3.นโยบายระดับที่กระทบทุกคน นั่นคือชีวิตคนไทย  การจัดทำนโยบายสาธารณะจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคมทุกด้านให้มีความยั่งยืนได้

ผู้ที่ทำงานในพื้นที่จะมองเห็นปัญหาและสถานการณ์จนสามารถบอกได้ว่าควรจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใด สุดท้ายแล้วกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม จะทำให้เห็นทางออกร่วมกัน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องการทำงานครั้งนี้จะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนใกล้ๆ หรือในเครือข่ายที่ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการยกระดับได้นำไปปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code