นักท่องเที่ยวยกเลิกทัวร์ หวั่นโรคชิคุนกุนยา

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์


นักท่องเที่ยวยกเลิกทัวร์ หวั่นโรคชิคุนกุนยา thaihealth


สงขลา เผยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย นักท่องเที่ยวมาเลเซียสิงคโปร์ แห่ยกเลิกท่องเที่ยวหาดใหญ่


นายอำนาจ พฤกษ์พิกุล มัคคุเทศก์อาชีพ จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งสื่อมวลชนของประเทศมาเลเซียได้เสนอข่าวเตือนให้ระมัดระวังการเดินทางเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทย ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์ยกเลิกการเดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ สะเดา จ.สงขลา"หนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนในมาเลเซีย เช่น จงหัวเป้า กวงหมิง เย่อเป้า กวางหวา เย่อเป้า และนานหยางซันเป้า ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับโรค ชิคุนกุนยาที่แพร่ระบาดในพื้นที่ จ.สงขลา กับรอยต่อบ้านบูกิตกายูอิตัม รัฐเคดาห์ มาเลเซีย ซึ่งทางมาเลเซียก็เป็นโรค ชิคุนกุนยาด้วย โดยให้ชาวมาเลย์ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ให้ระมัดระวังเรื่องยุงกัด ทำให้นักท่องเที่ยวในส่วนของผมหายไปถึง 30%" นายอำนาจ กล่าว


นายอำนาจ กล่าวว่า นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซียแล้ว ข่าวที่แพร่ออกไปอาจกระทบต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายอินเดียในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่เตรียมจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงเทศกาลวันทิปาวาลี วันที่ 19-21 ม.ค.นี้ ซึ่งปกติในแต่ละปีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเดินทางเข้ามา อ.หาดใหญ่ เป็นจำนวนมาก         


ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ประธานกลุ่มพัฒนาหาดใหญ่ กล่าวว่า ประชาชนโดยทั่วไปและผู้ป่วยต่างหวั่นวิตกกับโรคชิคุนกุนยาที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมาก จึงต้องมีนโยบายมีการจัดรณรงค์ให้ความรู้และการรักษา เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดระบาดและป่วยไข้กันมาก โดยเฉพาะการรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยไม่ให้ภาชนะที่มีน้ำขัง เพราะการฉีดยาพ่นควันจะไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร          นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โรคนี้มาจากทวีปแอฟริกาภายหลังได้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยพบเมื่อ 65 ปีก่อน โดยผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากยุงลายจะมีอาการปวดข้อจนบิดตัวงอ โดยยุงลายที่เป็นพาหะโรคจะแพร่เชื้อได้ทั้ง ชิคุนกุนยาและไข้เลือดออก ทั้งสองโรคมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ป่วยไข้สูงเฉียบพลัน 36-40 องศาเซลเซียส  แต่ป่วยไข้ชิคุนกุนยาระยะเวลา 2-3 วันก็หาย แต่ไข้เลือดออกระยะเวลา 4-5 วัน         


นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่ต่างกันของทั้งสองโรค คือ ไข้ชิคุนกุนยาจะมีอาการปวดข้อ เช่น ปวดข้อเท้า ข้อมือ นิ้วมือ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมากอาจเดินไม่ต้องต้องคลาน ส่วนไข้เลือดออกจะไม่มีอาการนี้         


ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายเป็นสาเหตุให้ประชาชนเสี่ยงเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยชิคุนกุนยาจำนวน 3,551 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้


 

Shares:
QR Code :
QR Code