นอนอุ่น หุ่นดี มีเงินใช้ เรื่องเล่าจาก ‘เวียงพร้าว’
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี มีเงินใช้" คำขวัญของบ้านป่าจี้ ต.เวียงพร้าว อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเองผ่านประชาคมหมู่บ้าน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลเวียงพร้าว โรงพยาบาลเวียงพร้าว กรมการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
โดยในปี 2558 ได้สร้างชุมชน ด้านเศรษฐกิจ สังคม เช่น กองทุนรถไถ การทำปุ๋ยหมักชุมชน ทำน้ำหมักมูลสุกร การปลูกข้าวปลอดภัย แม้จะมีลักษณะเป็นชุมชนที่เกือบจะค่อนไปทางเมืองแล้ว แต่บ้านหลายหลังของบ้านป่าจี้มีแปลงผักเล็กๆ เริ่มต้นแปลงผักเหล่านี้มาจากการรวมกลุ่มทำปุ๋ยหมักของชุมชน ผสานกับองค์ความรู้การทำปุ๋ยหมักจากหน่วยงานภาครัฐ
"ไม่มีปุ๋ยหมักดินที่มีอยู่ปลูกผักยากเหมือนกัน หรือปลูกมาแล้วไม่โต แต่เราก็มีน้ำหมักชีวภาพไล่แมลงน้ำหมักมูลสุกร ไปใช้ได้ทั้งนาข้าว ทำให้ลดค่าใช้จ่าย" ศิริพร สารแก่น ประธานกลุ่มน้ำหมักมูลสุกรในชุมชน ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 65 คนบอกเล่า หลังจากได้อบรมความรู้ทำน้ำหมักมูลสุกร จากการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาล
นอกจากเทศบาลจะสนับสนุนเรื่องการปลูกผักแล้วยังแจกพันธุ์ไก่ไข่ไปยังชุมชน 300 ตัว ทั้งผักและไข่ที่ เหลือจากการบริโภคแล้วจะส่งขายยังโรงพยาบาลเวียงพร้าว เพื่อเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารปลอดภัยจากสารเคมีให้คนไข้รับประทาน
เทศบาลตำบลเวียงพร้าวมีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนชุมชนน่าอยู่ หลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่มุ่งเป้าสู่การเป็น "ตำบลสุขภาวะ" ตั้งแต่ปี 2557 โดยเทศบาลตำบลเวียงพร้าวได้หารือกับผู้นำทุกภาคส่วน จนได้ความเห็นร่วมกันที่จะสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)
กิตติพันธ์ สุนทรพันธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว กล่าวว่า บทบาทของ สสส. ที่เข้ามาทำให้เทศบาลได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านวิธีการจัดทำข้อมูล สำรวจปัญหาของชุมชนโดยให้คนในชุมชนมาร่วมกันทำงาน จากนั้นเข้าสู่การอบรมเรียนรู้ จนวันนี้มีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนถึง 53 เรื่องและ มีแหล่งเรียนรู้เด่น 21 แหล่ง โดยเฉพาะเรื่องจัดการขยะ ขยะจากใบไม้ เศษฟางข้าวเดิมทีชาวบ้านจะเผา แต่เทศบาลมีโครงการทำปุ๋ยหมักแบบกองโดยไม่กลบ แล้วใช้เครื่องย่อย นำมาบรรจุถุงขาย ซึ่งปัจจุบัน ผลิตไม่พอขาย เทศบาลให้ชาวบ้านแยกขยะใบไม้ กิ่งไม้วางไว้หน้าบ้านจะมีรถเทศบาลเก็บใบไม้มาหมักเป็นปุ๋ย โดยใช้พื้นที่บริเวณสุสานที่ติดกับเทศบาล รายได้กลับมาเป็นทุนและค่าจ้างให้กับลูกจ้างเทศบาลที่มาร่วมทำ ปุ๋ยหมัก
"การนำขยะใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก ช่วยลดปัญหาหมอกควัน รัฐบาลประกาศห้ามเผาแต่การทำเกษตรแบบดั้งเดิมยากที่จะเปลี่ยนความเข้าใจ" นายกเทศมนตรีบอกเล่า
นายพฤกษ์ ยิบมันตะสิริ กรรมการบริหารสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า ย้อนเรื่องคำขวัญของป่าจี้ สอดคล้องกับการทำงานของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน เชื่อว่าชุมชนมีการจัดการตัวเองได้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาหารมีพืชผักปลอดสารเคมี นอนอุ่น ได้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมมีการเกื้อกูลกัน หุ่นดี มาจากการออกกำลังกายที่ชุมชนมีเวทีการออกกำลังกายที่เริ่มต้นมาจากกองทุนเครื่องเสียง จัดเต้นแอโรบิกหรือใช้ในงานบวช งานทำบุญบ้าน และมีเงินใช้ ชุมชนมีกองทุนรถไถนาเพื่อลดต้นทุนการผลิต
จากกรณีของป่าจี้ในพื้นที่ของต.เวียงพร้าว ยังมีโครงการแยกขยะที่ บ้านขามสุ่มเวียง เริ่มจากรณรงค์คัดแยกขยะจากผู้สูงอายุก่อน ใช้วันที่ผู้สูงอายุมารับเบี้ยยังชีพให้ถือขยะพลาสติก กระดาษมาด้วย สมาชิกนำขยะมาครบ 8 ครั้งใน 1 ปีจะได้สวัสดิการเป็นเงินค่ารถ 100 บาทหากไปหา หมอที่โรงพยาบาล 1 ครั้งต่อปี และเสียชีวิตได้ค่าทำศพ 300 บาท ขณะนี้กองทุนขยะบ้านขามสุ่มเวียง มีเงินทุนจำนวน 7,787 บาท หลังจากเริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557
บรรยากาศในวันรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเห็นผู้เฒ่าผู้แก่หิ้วขยะจากบ้านเรือนมา นอกจากนี้ยังมีร้านพืชผักปลอดสารของ ลุงสุรศักดิ์ เวชกิจ วัย 61 ปีมาจำหน่ายในราคาย่อมเยา ลุงสุรศักดิ์ ได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำเกษตรปลอดภัย ภายใต้โครงการร่วมมือฯ ดังกล่าว จนมาต่อยอดเป็นต้นแบบในชุมชนทั้งการทำปุ๋ยหมัก ที่ใช้ถังซีเมนต์มาบรรจุใบไม้ในบ้านทั้งเศษอาหาร โดยใช้สารย่อยสลายใบไม้ที่ทางการแจกให้ จนได้ปุ๋ยไปปลูกผักทั้งมะเขือ พริก กระเจี๊ยบ เช่นเดียวกันพืชผักเหล่านี้นำไปส่งที่ รพ.พร้าวด้วยบ้านทุ่งหลวง อีกหมู่บ้านที่อยู่ใน เทศบาลตำบลพร้าว หลังจากนำข้อมูลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งหลวงมากางดู พบสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกที่มารับบริการที่โรงพยาบาลทุ่งหลวงเพิ่มขึ้นทุกปี และพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาทั้งโรคกระเพาะ ไตอักเสบ จึงมีโครงการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ผ่านการนวด การอบสมุนไพร โดยสร้างอาคารขึ้นเรียกว่า ศาลาอโรค ยาบ้านทุ่งหลวง ใช้เงินบริจาคจากประชาชนและใช้เงินงบประมาณส่วนหนึ่ง
นอกจากชาว ต.เวียงพร้าวจะมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพแล้ว คนในชุมชนยังมีรายได้จากการนวด ทั้งนวดผ่อนคลาย และรักษาโรค โดยคิดราคา ชม.ละ 70 บาทสำหรับคนไข้ที่เบิกไม่ได้ และ 130 บาทสำหรับคนไข้ที่เบิกได้
เรื่องราวชุมชนน่าอยู่ในตำบลเวียงพร้าวช่วยย้ำสะท้อนว่า การทะลุกำแพงปัญหา คนในชุมชนต้องมาเก็บข้อมูล เล้วร่วมมือแก้ไข โดยมีภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงจัดสรรงบประมาณฝึกอบรม เรียนรู้ ดูงาน