นศ.รั้วศรีปทุม คิดค้นกีฬาใหม่ ‘บอลโต๊ะกลม’

นักศึกษาหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สร้างชื่อเสียงด้วยการคิดค้นกีฬา “บอลโต๊ะกลม (round table ball)” ซึ่งเป็นกีฬาชนิดใหม่ของโลกที่คิดค้นโดยคนไทย โดยได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว นอกจากนี้ผลงานวิจัย “บอลโต๊ะกลม” ยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาการศึกษา วิชาพลศึกษา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2554 จัดโดยสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งงานนี้มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

นายธนา กิติศรีวรพันธุ์ นักศึกษาหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เจ้าของงานวิจัยเรื่อง บอลโต๊ะกลมเปิดเผยว่า “รู้สึกภูมิใจมากครับที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยสามารถที่จะสร้างกีฬาที่เกิดจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาไทยโดยใช้รูปแบบมาตรฐานของสากล ไม่ใช่คอยรับองค์ความรู้จากต่างประเทศตลอดเวลาดังที่เป็นอยู่ เพราะในอดีตการนำกีฬาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย จะมาจากนักเรียนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันกีฬาบอลโต๊ะกลมนี้ ได้เผยแพร่ไปแล้วในระดับโรงเรียน ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี เลย และนครพนม ปัจจุบันมีสมาชิกชมรมจำนวน 35 ชมรม โดยตั้งใจจะเผยแพร่ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการเผยแพร่จากล่างสู่บน และเป็นการเตรียมสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะใช้ทักษะกีฬาบอลโต๊ะกลมนี้พัฒนาร่างกายและพัฒนาสมอง”

ส่วนที่มาของกีฬาบอลโต๊ะกลมนี้ นายธนาเล่าว่า “เนื่องจากที่ทำงานเดิมคือวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดอุดรธานีได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี ซึ่งมีบทบาทหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาคือบทบาททางด้านวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น ผมจึงได้คิดค้นกีฬาบอลโต๊ะกลมขึ้น ซึ่งสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี ได้มอบหมายให้กีฬาบอลโต๊ะกลมนี้เข้าไปคัดเลือก และได้ถูกคัดเลือกเป็นงานสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ของสถาบันการพลศึกษาในปี พ.ศ.2550 ต่อมาในปี พ.ศ.2553 เมื่อผมได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงได้ส่งผลงานนี้เข้าคัดเลือกเพื่อขอรับรางวัลสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์กับสภาวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ.2554

ส่วนสาเหตุที่เลือกทำเรื่องนี้นั้นมาจากการที่ผมได้ดูวีดีโอทางอินเทอร์เน็ต เป็นการเล่นกีฬาไตรปิงปอง ซึ่งคิดและประดิษฐ์อุปกรณ์โดยวิศวกรชาวฮาวาย โดยมีผู้เล่นปิงปอง 3คนพร้อมกัน ก็เลยมีความคิดว่า ขนาดคนที่ไม่ได้ศึกษาด้านกีฬามาโดยตรงยังมีความสามารถคิดค้นทางด้านกีฬาได้ เราเองซึ่งอยู่ในแวดวงกีฬาก็น่าจะทำได้เหมือนกัน อีกทั้งสมัยเด็กได้ฝึกเทนนิสกับคุณพ่อซึ่งรับราชการเป็นนายอำเภอ (นายอำเภอวิศิษฐ์ กิติศรีวรพันธุ์) และเป็นแชมป์เทนนิสชายคู่ของการแข่งขันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา ประทับใจในความสามารถของคุณพ่อ จึงได้คิดกีฬาที่มีการตีโต้ตอบ โดยสามารถเล่นได้ 4 คนพร้อมกัน จนเกิดเป็นกีฬาบอลโต๊ะกลมในที่สุด”

จุดเด่นของบอลโต๊ะกลมนั้น คือเป็นกีฬาที่ต้องใช้มือเล่นทั้งสองข้าง ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับการสั่งการของสมอง เป็นการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและสมอง การแข่งขันจะเล่นพร้อมกันทั้ง 4คน ซึ่งผู้เล่นจะต้องสวมถุงมือชนิดพิเศษที่ติดพลาสติกอะคริลิกสำหรับใช้ตีลูก จากการทดลองใช้กับคนสามวัย คือ เด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ในปี พ.ศ.2552 พบว่า คนทั้งสามวัยมีความพึงพอใจในการเล่นและสามารถเล่นร่วมกันได้ จึงสามารถนำไปใช้เป็นกิจกรรมกีฬาและนันทนาการของครอบครัวและชุมชนได้อีกด้วย ส่วนวิธีการเล่นนั้น ผู้เล่นจะมีด้วยกัน 4 คน โดยแบ่งเป็น earth water wind และ fire ผู้เล่นคนที่ 1 (earth) จะเป็นคนเสิร์ฟลูกคนแรกด้วยมือขวาไปยังคนที่ 3 (water) ซึ่งอยู่ด้านตรงข้าม และคนที่ 3สามารถส่งไปยังผู้เล่นคนใดก็ได้ ผู้ที่รับไม่ได้หรือทำให้ลูกบอลเสียจะเป็นผู้เสียคะแนน คนที่ทำให้คนอื่นเล่นไม่ได้จะเป็นผู้ได้คะแนน แล้วคนที่ 1 (earth) จะเสิร์ฟลูกด้วยมือซ้ายไปยังคนที่ 3 (water) ในคอร์ตซ้ายมืออีกครั้งหนึ่ง และจะเล่นวนไปอย่างนี้ ต่อเนื่องไปจนคนใดคนหนึ่งสามารถทำคะแนนได้ 12 คะแนนก็จะเป็นผู้ชนะในแต่ละเกมจะมีผู้ชนะคนเดียว และในกรณีที่มีผู้เล่นทำคะแนน -12 คะแนน คนที่ได้คะแนนสูงสุดในเกมนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ

สำหรับจุดที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขนั้น นายธนา กล่าวว่า “ลูกบอลที่ใช้แข่งในปัจจุบันเป็นลูกบอลฟองน้ำ อาจจะยังดูไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องหาวัสดุที่เหมาะนำมาใช้ต่อไป ส่วนโต๊ะที่ใช้แข่งขันนั้น จะต้องมีน้ำหนักที่เบากว่านี้เพื่อที่จะเคลื่อนย้ายได้สะดวก อีกส่วนที่ต้องปรับปรุงนั่นก็คือถุงมือ เพราะที่ใช้แข่งกันอยู่นี้เป็นถุงมือที่ประดิษฐ์ขึ้นกันเอง จึงขาดความเรียบร้อยสวยงาม และอาจยังขาดประสิทธิภาพ หากทำระบบอุตสาหกรรม น่าจะมีมาตรฐานกว่านี้”

ถือเป็นผลงานวิจัย ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาออกกำลังกาย อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่กัน ที่สำคัญยังเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นโดยฝีมือคนไทยอีกด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code