นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


          การขี่จักรยานนอกจากจะเสริมสร้างสุขภาพ ลดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ผ่านมา จากผลสำรวจปริมาณการใช้จักรยาน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้จักรยาน เพียง 2,250,000 คัน คิดเป็น 3.46% ของประชากร 64,871,000 คน จึงเป็นที่มา โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดกว้างให้ชุมชนมาร่วมเสนอโครงการเพื่อกระตุ้นการสร้างชุมชนจักรยาน สนับสนุนให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบันมีชุมชนจักรยาน 99 พื้นที่ ใน 34 จังหวัด โดยล่าสุดได้มีการจัด เวทีสรุปผลการดำเนินงานชุดโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปี 2 "ร้อยภาคี รวมพลังชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่" เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน


นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


          นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันการเดินทางและการจักรยานไทย กล่าวว่า การปั่นจักรยานถ้าจะให้เกิดผลควรต้องปั่นอย่างต่อเนื่อง และให้จักรยานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา แต่หากจะให้มีสุขภาพที่ดีต้องเริ่มต้นจากตัวของเราให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก หัวหน้าชุมชนถือเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มและนำร่องอย่างจริงจัง โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้จักรยานอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการสร้างแรงจูงใจให้กับคนในชุมชน ต้องขอบคุณ สสส.ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้เพื่อให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในเรื่องการใช้จักรยานมากขึ้น เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น


 


นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


          ตัวอย่างการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน จนเกิดนวัตกรรมชุมชนอย่าง "จักรยานซาเล้ง หายโศกสร้างสุข"นางเพ็ญจันทร์ บุญถึง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหายโศก อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ได้ร่วมกับชุมชนจัดทำ 'จักรยานซาเล้ง หายโศกสร้างสุข' เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการที่เดินลำบากสามารถเคลื่อนไหวและออกกำลังกายได้ โดยใช้ใส่ของไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านหรือปั่นนำอาหารไปแบ่งปันเพื่อนบ้าน ส่วนผู้สูงอายุที่ปั่นไม่ได้ก็นั่งพ่วงในซาเล้งเพื่อเดินทางไปพบเพื่อนบ้านใกล้ๆ นอกเหนือจากเรื่องสุขภาพก็ยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น อีกทั้งยังลดรายจ่ายในการเดินทางและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ การทำโครงการนี้เห็นได้ว่าทำให้ชาวบ้านมีจักรยานไว้ที่บ้านและนำออกมาปั่นกันมากขึ้น ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 40 คันในชุมชน จากเมื่อก่อนคนในชุมชนคิดว่าการมีจักรยานคือคนไม่มีฐานะ ส่วนคนที่มีรถจักรยานยนต์คือคนมีฐานะ แต่ทุกวันนี้มุมมองของคนในชุมชนได้เปลี่ยนไป ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่เราตั้งใจจะดำเนินการต่อไป


นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


          มาที่ชุมชน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วันนี้เปลี่ยนเสียงกริ่งให้ดังกว่าเสียงระเบิด ด้วยการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นายอดุลย์ ยีดิง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เล่าว่า จุดเริ่มต้นโครงการเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงวิตกกังวล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตัวแทนชุมชนจะต้องทำคือ รักษาความรู้สึกของคนในพื้นที่ไว้ จึงคิดวิธีการช่วยเยียวยาคนในชุมชน จนมาพบว่า ทาง สสส.มีโครงการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ประกอบกับคนในชุมชนบาเจาะมีจักรยานอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก จึงเชิญชวนให้คนในชุมชนลองปั่นมาประชุมหมู่บ้าน ปั่นมารับเบี้ยยังชีพ โดยตนและผู้นำชุมชนเป็นคนเริ่มต้นปั่นด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความไว้วางใจกัน จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนมีความสุขมากขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ หลายคนถามถึงความปลอดภัยในการปั่นเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ ซึ่งตัวหมู่บ้านจะแยกออกจากถนนสายหลักอยู่แล้ว ฉะนั้นมีความปลอดภัยในการปั่นแน่นอน คนในชุมชนก็สบายใจที่จะใช้จักรยานมากขึ้นด้วย


นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


          ปิดท้ายที่ 'ถนนปลอดภัยคนเดิน-คนปั่น' เทศบาลตำบลป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน นายสุเมธ แสงสิงห์ชัย  ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลป่าสัก เล่าว่า การจัดตั้งชมรมจักรยานตำบลป่าสักเกิดขึ้นเพราะก่อนหน้านี้คนในชุมชนมีจักรยานเกือบทุกหลังคาเรือนแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากเราเปลี่ยนจากการใช้จักรยานในระยะใกล้ๆ มาปั่นจักรยานแทนก็ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้เช่นกัน อีกทั้งยังเสริมสร้างสุขภาพให้คนในชุมชนอีกด้วย จึงรณรงค์ให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานในระยะใกล้ๆ ก่อน และสืบเนื่องจากชุมชนมีการทำโครงการขยะเพื่อลดมลพิษอยู่แล้ว จึงชวนให้คนในชุมชนนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ถาด มาทำเป็นป้ายสัญลักษณ์ 'ถนนปลอดภัยคนเดิน-คนปั่น' เพื่อให้คนในชุมชนหันมาเห็นความสำคัญและหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ตอนนี้มีแผนขยายให้ครบอีก 9 หมู่บ้าน ซึ่งนำร่องไปแล้ว 1 ตำบล ต้องขอบคุณ สสส.ที่ได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องสุขภาพ รวมถึงได้จัดให้แต่ละจังหวัดแต่ละชุมชนมาแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะนำไปปรับปรุงและใช้ในพื้นที่ของตนเอง


นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง) ใหญ่ thaihealth


แฟ้มภาพ


          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ทิ้งท้ายว่า โรคยุคใหม่ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศคือ มะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว หมอและยาแก้ปัญหาทางสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการสร้างสุขภาพด้วยการแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ การทำงานของ สสส. การขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนจักรยาน โดยคนในชุมชนใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยขยับมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศในการเพิ่มกิจกรรมทางกายของคนอายุ 11 ปีขึ้นไปไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 2564 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดชุมชนจักรยานที่ประสบความสำเร็จ พบว่ามี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ผู้นำท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ชุมชนขานรับ หน่วยงานภาครัฐเห็นดี และภาคีใส่ใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน ทำให้ผู้ใช้จักรยานรู้สึกถึงความปลอดภัย และใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน.


 

Shares:
QR Code :
QR Code