‘ธนาคารเวลา’ เบิก-ถอน ได้เมื่อต้องรับการดูแล
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
จะดีหรือไม่ถ้ามีธนาคารสักแห่งเปิดรับฝาก 'เวลา' และเราก็สามารถเบิกถอนได้เมื่อต้องการ
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ในขณะเดียวกันสังคมไทยก็เต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อ การแบ่งปันจากคนแต่ละช่วงวัย เช่นนี้เป็นแนวคิดของการทำ 'ธนาคารเวลา' ซึ่งเชื่อมต่ออาสาสมัครที่ทำความดีกับกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย
ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 อีกเวทีการเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่งผู้เข้าประชุมสนใจเป็นอย่างมากคือเรื่อง 'ธนาคารเวลา: นโยบายสร้างจิตอาสาในสังคมสูงวัย' ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนาอย่างพร้อมหน้า
'ธนาคารเวลา' นั้นเป็นพื้นที่ที่ให้ ทุกคนได้เข้ามาแบ่งปันเวลา ให้กับการดูแลผู้สูงอายุ โดยฝากเวลาสะสมไว้กับธนาคาร สามารถเบิกทอนการดูแลได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาสังคมและ สร้างจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะหลักคิดของธนาคารเวลาคือการเปลี่ยนแปลง แบ่งปันประสบการณ์ที่มีคุณค่าซึ่งกันและกัน โดยมีหน่วยนับ 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 หน่วย
แรมรุ้ง วรวัธ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ จำแนกผู้สูงอายุในประเทศไทยตอนหนึ่ง ว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ยังสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ สามารถใช้ภูมิปัญญาพัฒนาสังคมประเทศได้ 2.กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ที่ไม่สามาถเดินออกจากบ้านได้ สุขภาพไม่ดี และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุนอนติดเตียง ไปไหนไม่ได้
"คนกลุ่มติดเตียงนี้คือกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแล โดยอาศัยบริการจาก ผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรง หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ช่วยดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า และเก็บสถิติเวลาสะสมไว้ เสมือนหนึ่งเราออมเงินในบัญชี"
ส่วนรูปแบบของผู้ที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกจิตอาสาในโครงการคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป ที่มีร่างกายแข็งแรง และมีจิตเป็นอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ผู้สมัครจะต้องลงพื้นที่ไปดูแลคนวัยเกษียณ อาทิ การป้อนข้าว พาเดินเล่น พาไปหาหมอ
โครงการที่ว่านี้มีความคล้ายคลึงกับธนาคารผู้สูงอายุในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภารกิจที่ปฏิบัตินั้นจะเป็นการสะสมเอาเวลาไว้ และเมื่อจิตอาสาคนดังกล่าวมีอายุมาก ก็จะมีผู้ที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาดูแลเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ 'ธนาคารเวลาผู้สูงอายุ' นั่นเอง สำหรับเวลาในการดูแลผู้สูงวัยอื่นที่ฝากเอาไว้ สามารถถอนมาใช้ได้เมื่อเราต้องการ เช่น ยามต้องการเพื่อนคุย ยามล้มป่วย หรือเมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ และไม่มีญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดที่สามารถมาดูแลได้
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความชัดเจนเพิ่มเติม ว่า ประเทศไทยมีจิตอาสาอยู่เป็นจำนวนมาก หลักคิดของธนาคารเวลาคือดึงเอาจุดแข็งของสังคมไทยนั้นไปใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุ
ธนาคารเวลาจะมีหน้าที่บริหารจัดการจับคู่ ประเมินความต้องการกับกิจกรรมให้เหมาะสมเพื่อมีอัตรา แลกเปลี่ยนโดย 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 หน่วยเครดิตที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ในส่วนของจิตอาสาก็ต้องมีความรู้ และถูกฝึกทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัยและให้เกียรติผู้สูงอายุอย่างถูกต้องเหมาะสม
ผศ.ดร.เนตร หงส์ไกรเลิศ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่จะทำให้ธนาคารเวลาประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องใช้หลักต่างคนต่างช่วย คือช่วยตามต้นทุนที่ทุกคนมีในแต่ละสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ครู สถาปนิก ฯลฯ ซึ่งจะนำมาสู่การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันตามความเชี่ยวชาญ
สำหรับประเทศไทย แม้แนวคิดธนาคารเวลาจะเป็นเรื่องใหม่ แต่สังคมก็มีจุดแข็งเรื่องจิตอาสาในทั่วทุกภูมิภาค มีกลุ่มจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจโดยไม่หวังผลตอบแทนมากกว่า 3.2 แสนรายทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีโครงการนำร่องแล้ว เช่น ตำบลวัฒนา อ.ส่องดาว จ.สกลนครตำบลหนักธรรม อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่
ถึงวันนี้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังศึกษาเพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยในปัจจุบัน ไทยมีโครงการอาสาสมัครดูแล ผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการให้ผู้สูงอายุมาช่วยดูแลผู้สูงอายุคนอื่น ซึ่งประโยชน์ของการอาสาสมัครในโครงการธนาคารเวลาในด้านของ ผู้สูงวัยที่เป็นผู้อาสา คือ มีงานทำ ไม่เหงา ได้ทำประโยชน์ มีสังคม และมีการเรียนรู้ เรื่องการสูงวัย ทำให้สามารถเตรียมตนเองเพื่อรับมือกับภาวะสูงวัยที่จะ เกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น การดูแลอาจจะเป็นการดูแลให้ใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เข็นรถเข็นพาผู้สูงวัยไปเดินเล่น พาไป ซื้อของ พาไปพบแพทย์ตามนัด พาไป รับประทานอาหารนอกบ้าน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของการ แบ่งปันคุณค่าระหว่างกัน