ท้องถิ่นประสานใจสร้างเด็กปฐมวัยให้มีอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึกภาพ
ภาพโดย สสส.
การเลี้ยงเด็กให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพเป็นเรื่องที่ยากในปัจจุบัน เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องทำงานหาเงินจนไม่มีเวลา บางรายก็ต้องไปทำงานต่างจังหวัดทิ้งไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู เด็กจึงขาดความรักความอบอุ่น ความเข้าใจ หลายคนมองไม่เห็นปัญหา แท้จริงแล้วนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ค่อยๆ ซึมซับโดยไม่รู้ตัว
จากการเก็บข้อมูลของสำนักส่งเสริม สุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 2,148 แห่งในกลุ่มประชากร 9 ล้านคน 3 แสนครอบครัว พบว่าเด็กปฐมวัยอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย 43% และอยู่กับบุคคลอื่น 28% โดยอาศัยอยู่กับพ่อแม่มีเพียง 28% เท่านั้น
"การที่เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่นั้น จะเกิดผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การเติบโตช้า พัฒนาการล่าช้า มีการเจ็บป่วย ขาดผู้ดูแล และปัญหาความรุนแรง" น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะชุมชน ชี้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไปการเลี้ยงดูเด็กจึงใช้วิธีการเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ดีจำเป็นต้องมาช่วยกัน ระดมสรรพกำลังแบ่งเบา ภาระพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้สูงวัย ไม่ทิ้งให้เป็นไปตามยถากรรมอีกต่อไป
การดูแลต้องเริ่มที่เด็กปฐมวัย คือตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึง 6 ขวบ ซึ่งเด็กวัยนี้จำเป็นต้อง ได้รับการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา โดยยึดหลักการทำงาน 4 หลัก คือ 1.การใช้พื้นที่เป็นฐานการพัฒนา 2.การคำนึงถึงสุขภาพในทุกนโยบายของชุมชนท้องถิ่น 3.การสร้างการมีส่วนร่วม และ 4.การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของการขับเคลื่อนระบบ
ขณะเดียวกันได้ยึดแนวทางภายใต้ 6 ชุดกิจกรรม ได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพสำหรับเด็กปฐมวัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.การพัฒนาหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 3.การพัฒนาบริการ 4.การจัดตั้งกองทุนหรือสวัสดิการช่วยเหลือ 5.การพัฒนาและใช้ข้อมูลในการส่งเสริมแก้ไขหรือจัดการปัญหา และ 6.การพัฒนากฎ กติกา ระเบียบสนับสนุน
"เราสร้างทุนทางสังคมและชุมชนเพื่อเข้า ไปหนุนเสริมช่วยเหลือ เด็กจะได้เติบโตไปในทางที่ดี" น.ส.ดวงพร กล่าว
ที่เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และพื้นที่กว้างขวาง การทำงานจึงค่อนข้างลำบากและท้าทายพอสมควร ที่นี่มีการจัดการระบบการดูแลเด็กได้อย่างน่าสนใจ
น.ส.พิมพ์พร ภิระคำ นักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลบ้านหลวง จอมทอง เปิดเผยว่า ใน ต.บ้านหลวง มีเด็ก 1,275 คน หรือ 10% ของประชากรทั้งหมด มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 10 แห่ง กระจายอยู่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 300 ตารางกิโลเมตร เทศบาลตำบลบ้านหลวงจึงอยากให้เด็กๆ ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด และลดเวลาเดินทางไปเรียนให้น้อยที่สุด จึงกำหนดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) อีก 4 แห่งคอยดูแลให้บริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง
ด้านกลไกการดูแลเด็กมี 4 เสาหลัก เชื่อมโยงการทำงาน ได้แก่ 1.ศูนย์พัฒนา เด็กเล็ก คือให้เด็กได้รับพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน 2.ศูนย์พัฒนาครอบครัว เพื่อดูแลกลุ่มเด็กเปราะบาง เพื่อให้อยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุข 3.รพ.สต.ทั้ง 4 แห่งที่ให้บริการสาธารณสุข และ 4.ภาคประชาชนที่ส่งเสริมให้ลุกขึ้นมาช่วยดูแลเด็กในชุมชนของตัวเอง โดยกลุ่มหรือชมรมต่างๆ
เมื่อมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และพื้นที่ลำบาก อะไรที่ทำให้ตำบลบ้านหลวงขับเคลื่อนระบบการดูแลเด็กได้จนประสบผลสำเร็จ น.ส.พิมพ์พร บอกว่า ต้องปรับให้เข้ากับบริบท ความเชื่อและวิถีชีวิต เพราะโครงการเดียวกัน วิธีเดียวกัน อาจจะใช้กับพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้ จึงต้องหาวิธีของแต่ละพื้นที่ให้เจอ และสิ่งสำคัญคือต้องใช้ผู้นำและกลไกทางสังคมเข้ามาเป็นตัวเชื่อม
ขณะที่ อบต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบล ราชธานี ได้ใช้การเชื่อมความสัมพันธ์ของคนสองวัยมาเป็นกลยุทธ์ในการดูแลเด็กในชุมชน ครูเพ็ญศรี สร้อยมาตร์ ครูผู้ดูแลเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านยางขี้นก เปิดเผยว่า เดี๋ยวนี้พ่อแม่ทิ้งลูกให้คนแก่ดูแล จึงเป็นช่องว่างของคนสองวัยที่อาจจะไม่เข้าใจกัน ขณะเดียวกันการใช้สื่อสมัยใหม่ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ก็เป็นปัญหา เพราะผู้สูงอายุตามไม่ทัน ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงอยากเชื่อมสัมพันธ์คนสองวัยด้วยการจัดกิจกรรมให้มีอะไรทำร่วมกัน เอาภูมิปัญญา วัฒนธรรมและประเพณีมาถ่ายทอดให้ ช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้ก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อปท.ในฐานะผู้รับผิดชอบศูนย์พัฒนา เด็กเล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเด็ก จึงเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องมีบทบาทและใส่ใจนโยบายระบบการดูแลสุขภาพเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาไม่น้อยกว่านโยบายในด้านอื่นๆ เช่นกัน
นายอุเทน ศรีนอก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสมาใหญ่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงแนวทางในการดูแลเด็กในพื้นที่ ว่าเมื่อก่อนคนในชุมชนใกล้ชิด รู้จักช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลลูกหลานให้กันอย่างทั่วถึง แต่เดี๋ยวนี้สังคมชนบทเริ่มเปลี่ยนไป คนเริ่มไม่รู้จักกัน ท้องถิ่นก็ต้องเข้ามาดูแลจัดการ ซึ่งต้องดึงผู้ที่มีความสามารถที่หลากหลายในชุมชนเข้ามาช่วยกัน สิ่งสำคัญคือผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ ใส่ใจการทำงาน ด้านข้อมูล แผนงานหรือโครงการ แผนการวิธีปฏิบัติงาน การติดตาม ประเมินผล สิ่งที่ดีก็พัฒนาต่อ สิ่งที่ขาดจะพัฒนาอย่างไร ต้องปรับปรุงส่วนไหนให้ ระบบการดูแลเด็กดีขึ้น
เช่นเดียวกับ ดร.กิตติพงศ์ สีเหลือง นายกอบต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่ย้ำถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนว่า เสม็ดใต้เน้นการสร้างภาคีที่เข้มแข็งมาช่วยเรื่องการสืบค้นข้อมูล "เราเป็นสังคมชนบทกึ่งเมือง จะว่ายาก ก็ยาก แต่หัวใจการทำงานคือเราต้องตั้งเป้าหมาย ก็ยาก แต่หัวใจการทำงานคือเราต้องตั้งเป้าหมาย โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง อบต.ก็รับเป็นเจ้าภาพคอยประสานทุกกลุ่มมาช่วยกัน ต้องใช้วิธีการทำงานทุกอย่างเพื่อขับเคลื่อนการดูแลเด็กให้ต่อเนื่อง" นายก อบต.เสม็ดใต้ กล่าว
สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกนำเข้ามาส่งเสริมในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยของแต่ละพื้นที่โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท.เครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปจัดสร้าง ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จจำนวน 524 แห่งทั่วประเทศ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ประกอบด้วย 5 ฐาน ได้แก่ 1.สระน้ำอินจัน ช่วยฝึกสมองท้ายทอย ทรงตัว 2.สระน้ำลาดต่างระดับตามช่วงวัยที่เหมาะสม มีน้ำพุตรงกลาง ช่วยฝึกเด็กรักการเล่นน้ำ ฝึกความคิด ผ่อนคลาย 3.ค่ายกล ฝึกปีนป่ายสร้างความมั่นคงทางจิตใจ กล้าหาญ สร้างสรรค์ 4.เรือสลัดลิง ช่วยสร้างจินตนาการ ปีนป่าย และ 5.สระหัด ว่ายน้ำ ช่วยให้เด็กว่ายน้ำเป็น สามารถช่วยเหลือ ตนเองและผู้อื่นได้
อ.ดิสสกร กุลธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา กล่าวว่า สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเกิดขึ้นด้วยแนวคิดการเล่นแบบฉันทศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เป็นการเล่นแบบธรรมชาติ เด็กที่ได้สัมผัสดิน น้ำ ได้ปีนป่าย จะมีความสุขได้พัฒนาระบบความคิด เป็นการเรียนรู้จากการเล่น
"สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแต่ละแห่งเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่มาช่วยกันทั้งบริจาคเงิน วัสดุ อุปกรณ์ และลงแรงช่วยจนแล้วเสร็จเพื่อให้ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเด็ก" อ.ดิสสกร กล่าว
เช่นเดียวกับการอ่านสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งกลไกการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทั้งสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทยให้แก่เด็กๆ
นายทวี เสริมภักดีกัล รองอธิบดีกรม ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยสร้างคน สร้างสติปัญญา ซึ่งทาง สถ.ได้สนับสนุนให้ อปท. ทำห้องสมุดประชาชนเพื่อให้เป็นที่อ่านหนังสือของชุมชนอย่างน้อย อปท.ละ 1 แห่ง และยังร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในการนำสัญญาณมาใช้ในการเรียนการสอนในสถานศึกษาสังกัดของ อปท.
ในวันนี้อาจกล่าวได้ว่าอนาคตของชาติขึ้นอยู่ในมือของท้องถิ่นคงไม่ผิดนัก เมื่อเด็กเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็งเป็นฐานที่มั่นคงเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็งเป็นฐานที่มั่นคงประเทศชาติ ดังนั้นท้องถิ่นทั่วประเทศจึงต้องมา ร่วมกันคิดร่วมกันทำในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ให้เติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงในอนาคต