ท่าซักโมเดล ปลูกจิตสำนึกลดอุบัติเหตุ

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์


ท่าซักโมเดล ปลูกจิตสำนึกลดอุบัติเหตุ thaihealth


แฟ้มภาพ


"ท่าซักโมเดล" จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความปลอดภัยทางถนน จนช่วยลดอุบัติเหตุในจังหวัดลงได้ นอกจากนี้ยังได้บรรจุวิชา พ.ร.บ.จราจรทางบก อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย และเคารพกฎจราจร


นายเกรียงศักดิ์ ศรีไสย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในการประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จัดโดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ตำบลท่าซักเป็นตำบลขนาดใหญ่มีประชากรกว่า 12,000 คน สภาพวิถีชีวิตชุมชนเมือง จึงทำให้ถนนที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นบริเวณถนนตัดใหม่ สี่แยกไม่มีสัญญาณไฟจราจรและคนมักฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุสูง จึงได้ดำเนินการแก้ไขอุบัติเหตุ "ท่าซักโมเดล" เกิดขึ้นจากคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้นโยบาย "นครปลอดภัย" 


โดย พ.ต.ท.วิชัย ม่วงสวย รอง ผกก.จร.สภ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้ประสานกับทาง อบต.ท่าซัก เพื่อรณรงค์ปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนน จากนั้นได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนพร้อมนำมาตรการ 3 ด่านคือ ด่านครอบครัว ด่านโรงเรียน ด่านชุมชน ซึ่งในบทบาทของ อบต.ท่าซัก ได้หนุนเสริมเรื่องด่านชุมชนคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ติดสติกเกอร์ โดยตั้งด่านทุก วันพฤหัสบดี ช่วงเวลา 17.00-20.00 น. หมุนเวียนไปตามพื้นที่ความเสี่ยง โดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. อสม.ฯ ซึ่งจะคัดเลือกพื้นที่ใน 9 หมู่บ้าน เช่น ชุมชน ตลาดนัด โรงเรียน หมุนเวียนไป เน้นดูแลมอบความห่วงใยมากกว่าจับกุม 


ด้านนางมิ่งขวัญ เกตุกำพล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตำบล ท่าซัก เป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงต่อเนื่อง ซึ่งปี 2561 ประชากรตำบลท่าซัก เสียชีวิต 7 ราย พิการกว่า 50 คน บาดเจ็บ 233 คน ผ่าตัดใหญ่ประมาณ 100 คน ความสูญเสียดังกล่าวทีมพี่เลี้ยงโดยคณะอนุกรรมการเมืองคอนถนนปลอดภัย จึงได้ร่วมดำเนินโครงการ "ท่าซักโมเดล" ใช้มาตรการ 3 ด่าน คือ 1. ด่านครอบครัว โดยทีมพี่เลี้ยงและ รพ.สต., อสม. ร่วมสำรวจและแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีแดงคือไม่สวมหมวกนิรภัย กลุ่มสีเหลืองคือขับเร็วและเมา และกลุ่มสีเขียวคือบุคคลที่ขับขี่ปลอดภัย 


นอกจากนี้ลงเยี่ยมบ้านจะนำสติกเกอร์ด้วยรักจึงตักเตือนไปติดที่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์พร้อมเคาะประตูบ้าน โดยนำผู้เคยประสบอุบัติเหตุไปเตือนใจ 2. ด่านโรงเรียน นำโดยโรงเรียนวัดนาวง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และขยายผลอีก 4 แห่งในพื้นที่ร่วมดำเนินการ บรรจุหลักสูตรการศึกษาวิชา พ.ร.บ.จราจรทางบก กำหนด 10 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทีมพี่เลี้ยงหมุนเวียนเข้าไปสอนตามเนื้อหาวิชา เช่น การขับขี่ปลอดภัย เครื่องหมายจราจร การป้องกันอุบัติเหตุ ผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุ การช่วยฟื้นคืนชีพ CPR เป็นต้น


3. ด่านชุมชน ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานทำให้การเสียชีวิตในปี 61-62 ลดลง โดย ปี 61 ตาย 7 ราย ปี 62 จนถึง ม.ค. 63 ยัง คงเป็น 0 ราย การป่วยจากอุบัติเหตุลดลงจากปี 61 จำนวน 233 ราย ปี 62 เหลือ 47 อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ปี 2561 ประมาณ 15% ปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 70.23% ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ทุกคนร่วมกัน


นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงาน เครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ท่าซักโมเดล เป็นชุมชนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ต้องชื่นชมอย่างยิ่ง ซึ่ง สคอ. และภาคีต้องขอนำบทเรียน วิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้ไปเผยแพร่ต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code