ทุกบ้านสุขสันต์ ชวนปั่นจักรยาน

         /data/content/26039/cms/e_fghijltuvz38.jpg


         กิจกรรม Car Free Day ในวันที่ 21 กันยายน ผ่านพ้นไปแล้ว แต่กระแสการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงด้วยจักรยานแทนรถยนต์ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ก็หันมาใช้พาหนะสองล้อชนิดนี้ในการสัญจรไปมา รวมทั้งเป็นกิจกรรมออกกำลังกายให้สุขภาพของตัวเองและครอบครัวแข็งแรง และที่สำคัญยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดสภาวะเรือนกระจกที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย


         ไม่น่าเชื่อ หากท่านผ่านไปแถว ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร หลายคนอาจแปลกใจว่ากำลังอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ยุโรป หรือญี่ปุ่นกันแน่ เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่ใช้จักรยานในการสัญจรไปมาทั้งสิ้น เปรียบดังพาหนะคู่กายดังประเทศชั้นนำข้างต้น  


          ในวัน Car Free Day ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงถือโอกาสจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อตอกย้ำว่าคนที่หมู่บ้านนี้คือชาวจักรยานอย่างแท้จริง พร้อมประกาศให้เห็นว่าเป็นชุมชนแห่งแรกในโลกที่แสดงสิทธิพื้นฐานการดำรงชีวิตพอเพียง ลดการใช้พาหนะเครื่องยนต์ในแต่ละวัน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานอีกด้วย


          ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ปั่นจักรยานในประเทศไทยมี 3 กลุ่ม ลักษณะเป็นพีระมิดปลายแหลมบนสุดเรียกว่านักแข่งจักรยาน มีจำนวนน้อยที่สุด รองมาคือกลุ่มนักจักรยาน จะแต่งกายเป็นพิเศษเฉพาะตัว มีอุปกรณ์ในการปั่น เช่น หมวกกันน็อก ชุดปั่นจักรยาน ซึ่งนิยมอยู่ในเวลานี้ และกลุ่มฐานล่างที่มีจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มผู้ใช้จักรยานทั่วไปในการเดินทางหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน 


           แต่แนวทางของ Car Free Day ควรเป็นกิจกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงทุกชุมชน ทุกวัน ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือต้องกระจายสู่กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คือกลุ่มผู้ใช้จักรยานทั่วไป ให้สามารถใช้จักรยานในชุมชนของตัวเองให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง และชาวบ้านต้องเห็นประโยชน์ของการปั่นจักรยาน อย่างเช่น คนในประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ ลาว ญี่ปุ่น เดนมาร์ก เคนยา  


            “มีแต่ในเมืองไทยที่บอกว่าต้องมีทางจักรยาน มีหมวกกันน็อก ชุดปั่นจักรยาน นั่นเป็นบริบทของคนเมืองกรุง แต่ไม่ใช่ของประเทศไทยทั้งหมด เพราะบางพื้นที่ ชาวบ้านอาจไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้และสามารถใช้จักรยานตามบริบทสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุได้เอง มีสุขภาพดีขึ้น และลดปัญหาสังคมให้เยาวชนไม่ไปติดยา ติดเกม”


             “ถ้าเด็กไทยหันมาขี่จักรยาน ไม่ไปแข่งมอเตอร์ไซค์ พร้อมมองจักรยานไม่ใช่แค่พาหนะ แต่เป็นปรัชญาชีวิต/data/content/26039/cms/e_ahprstvwz348.jpgทำให้เห็นถึงความพอเพียง เป็นการออกกำลังกายที่ทุกวัยสามารถทำร่วมกันได้ สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและชุมชน สิ่งเหล่านี้คือความดีงามที่เกิดขึ้น”


             กรรมการ สสส.กล่าว และว่า ชุมชนดงกลางเป็นกลุ่มคนที่ใช้จักรยานและเดินในชีวิตประจำวันเป็นปกติทุกวัน และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าอนาคตชาวบ้านชุมชนอื่นๆ จะมาศึกษาและเอาไปปฏิบัติเป็นแนวทางในพื้นที่ของตัวเอง 


             พญ.ภาวดี เนตรภู่ อดีตนายก อบต.ดงกลาง ผู้ริเริ่มแนวคิดชุมชนจักรยาน กล่าวว่า ด้วยความที่มีอาชีพแพทย์ เห็นว่าแต่ละปีคนไทยต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเป็นค่ารักษาพยาบาล และตำบลดงกลางเป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านใช้จักรยานไปทำไร่ ทำนา ไปวัด ไปโรงเรียน จนเป็นภาพชินตา เพียงแต่ยังไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มจักรยาน จึงมีแนวคิดที่จะสนับสนุนการมีสุขภาพที่ดีด้วยการริเริ่มชวนให้มารวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมจักรยานบ้านดงกลางเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา


             โดยได้รับการสนับสนุนจากพระครูวิจารณ์ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดดงกลาง ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ จึงทำให้เกิดโครงการเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น ส่งผลให้มีสมาชิกกว่า 200 คัน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างวัด บ้าน โรงเรียน เกื้อหนุนและมีมิตรภาพที่ดี สามัคคีกันยิ่งขึ้น


              “การรวมกลุ่มขี่จักรยานทำกิจกรรมต่างๆ พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สุขภาพดีทั้งกายและใจ และจากการติดตามผลตรวจสุขภาพชาวบ้านทุก 3 เดือน หลายคนมีร่างกายแข็งแรงขึ้น เช่น ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้นเป็นลำดับ” ผู้ริเริ่มแนวคิดชุมชนจักรยานกล่าว 


              นายปรีชา โพธิ์แก้ว นายก อบต.ดงกลาง กล่าวว่า ในฐานะที่มาทำงานใน อบต. ยินดีและสนับสนุนสังคมชุมชนดงกลางให้เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง และเป็นตัวอย่างการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ โดยชมรมจักรยานดงกลางมีการรวมตัวขี่จักรยานและทำกิจกรรมร่วมกันสัปดาห์ละ 1 วัน ส่งเสริมให้มีสุขภาพดีทั้ง 3 วัยคือ เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ขณะนี้มีสมาชิกจาก 9 หมู่บ้าน และมีบริการซ่อมจักรยานให้สมาชิกและคนทั่วไปในราคาไม่แพง


              เด็กชายวีรพัฒน์ สดใส อายุ 10 ขวบ เล่าว่า เป็นสมาชิกชมรมจักรยานตำบลดงกลาง เพราะคุณพ่อชวนและปั่นจักรยานทั้งครอบครัว รวมถึงคุณแม่และพี่ชาย ปกติจะปั่นจักรยานไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อน ชวนกันไปในที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน รู้สึกสนุกมาก เพราะรอบๆ หมู่บ้านมีหลายอย่างให้ได้เล่นเรียนรู้ เช่น นาข้าว สวนผัก ผลไม้ ไปวัด หรือรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน


              หากจักรยานเสียจะมีผู้ใหญ่ใจดีในชมรมคอยซ่อมให้ ปั่นจักรยานแล้วสนุกมาก เพราะพาไปไหนๆ ได้อย่างไม่รู้เบื่อ อยากให้เพื่อนๆ หันมาขี่จักรยานดีกว่าไปเล่นเกม เพราะจะได้เห็นสิ่งรอบตัวที่มีให้ศึกษาทุกวัน


              นี่คือต้นแบบครอบครัวชุมชนจักรยานที่เกิดขึ้นจริง และรอขยายผลไปทั่วพื้นที่ประเทศไทย.


 


 


              ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


              ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code