ทุกข์ของเด็กไทย วอนคุมเข้ม “เหล้าปั่น”
มหันตภัยแสนหวาน แฝงความ “ร้าย” เดียงสา
ปัญหาร้านเหล้าปั่นที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเมืองกรุง แผ่ขยายไปตามมหาวิทยาลัย และกำลังลุกลามเข้าใกล้รั้วโรงเรียนมากขึ้นทุกขณะ สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย เมื่อกระแสความนิยมเหล้าปั่นมาแรงในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูสดใส แถมยังราคาถูก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เหล้าปั่นไม่อันตราย เพราะทั้งแพทย์และนักวิชาการต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า พิษภัยไม่แพ้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ อย่างแน่นอน
“เหล้าปั่นแฝงไปด้วยอันตรายเพราะเข้าถึงวัยรุ่นง่าย ดูผิวเผินเหมือนน้ำผลไม้ปั่น แต่ไม่ธรรมดาเพราะมีเหล้าผสม หนูก็เคยดื่มเพราะพี่อยากลองกินดู ให้หนูไปด้วย กินแล้วไม่ขม หวานๆ เปรี้ยวๆ ไม่มีกลิ่นของแอลกอฮอล์ การจัดตกแต่งร้านก็น่ารัก สบายๆ คิกขุ ไม่แออัดเหมือนตามผับตามบาร์ เคยเห็นร้านกาแฟก็มีมุมขายเหล้าปั่น แม้แต่รถเข็นขายน้ำผลไม้ก็มีขาย ตอนนี้รอบๆ โรงเรียนของหนูยังไม่มี แต่ในหมู่บ้านได้ยินเพื่อนๆ พูดถึงเหล้าปั่นและชวนๆ กันไปเหมือนเป็นค่านิยมว่า คนที่ไม่เคยดื่มเหล้า เหล้าปั่นเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเป็นนักดื่มคอทองแดง เพราะมีหลายสูตรเหลือเกิน ถ้าอยากเมามากก็เติมเหล้าให้แรงขึ้นได้” นี่คือเสียงจาก ปทิตตา จีรจิตต์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา หนึ่งในเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ ซึ่งสะท้อนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเหล้าปั่นที่กำลังโดนใจวัยโจ๋
นอกจากนี้ น้องปทิตตายังขอเป็นตัวแทนเยาวชนไทยฝากถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขให้ออกมาตรการควบคุมปัญหานี้ เพราะถ้าดูจากผลสำรวจพบว่า ทุกวันนี้ร้านเหล้าได้ล้อมสถานศึกษา มีร้านเหล้าปั่นเฉลี่ย 5 – 6 ร้านต่อหนึ่งมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ในรัศมี 200 เมตร ในหลายที่มีร้านเหล้าปั่นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เช่นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่จะเห็นได้ว่า ความนิยมของเหล้าปั่นมาแรงมาก อยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันหามาตรการเร่งสกัดภัยเหล้าปั่น รวมไปถึงร้านเหล้ารอบสถานศึกษาโดยด่วน
แน่นอนว่าเหล้าปั่นไม่ได้บังเอิญเกิดขึ้นในสังคมไทย ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อาจารย์ทำงานในเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เธอยืนยันว่ามีการขยายตัวของตลาดแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเหล้าขาวที่มีคุณสมบัติไร้สี ไร้กลิ่น ไร้รส ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำเหล้าปั่นนั่นเอง นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจแบบน้ำขึ้นน้ำลงทำให้เหล้าปั่นซึ่งราคาถูกระบาดหนัก
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของเหล้าปั่นนั้น ดร.นิษฐาให้ภาพได้ชัดเจนว่า เหล้าดูไร้เดียงสาและหน้าตาแสนหวานอินเทรนด์ แต่แท้จริงสุราหน้าเด็กตัวนี้ ดันตัวเองให้เป็นที่นิยมในหมู่เด็ก วัยรุ่น และผู้หญิง โดยเหล้าปั่นดึงลูกค้าให้ซื้อด้วยการสร้างความหมายใหม่ให้กับตัวเอง ฉกฉวยภาพลักษณ์ของความน่ารัก สดใส และอินโนเซนต์ แทนภาพของเมรีขี้เมาจากการดื่มแบบเดิมๆ
“เป็นน้ำสีสวยสีหวาน มีหลากกลิ่นหลายรส แถมมาแบบแก้ว แบบเหยือก เป็นขวด หรือเป็นจอกเล็กๆ นอกจากนี้แล้วเหล้าปั่นยังดึงลูกค้าให้ซื้อผ่าน 3 กลวิธี คือ ราคาที่จ่ายได้ จ่ายง่าย ลูกค้าดื่มได้หลายวิธี ถ้าอยากให้แรงขึ้นก็เติมเหล้ามากขึ้น ที่สำคัญมีการสร้างบรรยากาศในการดื่ม ขณะที่การผลักคนกลางให้ขายนั้น สังเกตว่าเป็นไปเพื่อสร้างช่องทางการขายเหล้าปั่นให้มากยิ่งขึ้น จะพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์เหล้าปั่นจะมีราคาถูก อุปกรณ์ก็มีให้ สูตรก็บอก”
มหันตภัยแห่งความร้ายเดียงสานี้ นักวิชาการคนเดิมกล่าวว่า เด็กไม่รู้ว่าตัวเองกำลังดื่มเหล้า กำลังรู้สึกว่าทำตัวให้ทันสมัย หากดื่มเหล้าปั่นเข้าไปในปริมาณมากเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ ปัญหาสุขภาพ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อนักดื่มหน้าใหม่เกิดกระแสและค่านิยมการดื่มสุรา จะก้าวไปสู่การดื่มสุราและเสพยาประเภทอื่นๆ
“เหล้าปั่นเป็นภัยอันตรายที่ต้องควบคุม ทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการออกมาตรการควบคุม แก้ปัญหาเหล้าปั่นและร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เพื่อจัดการกับการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ง่ายเกินไป และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จริงจังกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551″ ดร.นิษฐากล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวังว่า ภัยน้ำเมาที่คุกคามเด็กและเยาวชนอยู่ในขณะนี้ ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันบรรเทาปัญหา ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตื่นตัวกับปัญหานี้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้เยาวชนต้องทุกข์ทนเมื่อตกเป็นเหยื่อของแอลกอฮอล์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 14-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์