“ทีวี-วีดิโอเกม”ทำวัยรุ่นเสี่ยงโตขึ้นซึมเศร้า

เกิดในเพศหญิงน้อยกว่าชาย

 

“ทีวี-วีดิโอเกม”ทำวัยรุ่นเสี่ยงโตขึ้นซึมเศร้า

          วอชิงตัน – ผลศึกษาล่าสุดชี้การใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งดูโทรทัศน์ และเล่นวีดิโอในวัยรุ่น อาจทำให้มีอาการของโรคซึมเศร้าได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการของโรคนี้น้อยกว่าผู้ชาย

          วารสารอาร์ไคฟ์ส ออฟ เจนเนอรัล ไซไคอัทรี ของสหรัฐ ตีพิมพ์ผลสำรวจล่าสุดที่ระบุว่า การที่วัยรุ่นใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการนั่งดูโทรทัศน์ หรือเล่นวีดิโอเกม อาจทำให้มีอาการของโรคซึมเศร้าได้ขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

          คณะนักวิจัย ภายใต้การนำของนายไบรอัน พริแม็ค จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ได้ดำเนินการสำรวจคนหนุ่มสาวที่บริโภคสื่อต่างๆ จำนวน 4,142 คน ซึ่งไม่เคยมีอาการซึมเศร้าขณะการสำรวจเริ่มขึ้นเมื่อปี 2538  อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ดีวีดี และอินเทอร์เน็ตจะรู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยคนกลุ่มนี้ใช้เวลาบริโภคสื่อเฉลี่ยวันละ 5.68 ชั่วโมง รวมถึง ดูโทรทัศน์ 2.3 ชั่วโมง ฟังวิทยุ 2.34 ชั่วโมง ดูวีดิโอ 0.62 ชั่วโมง และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ 0.41 ชั่วโมง

          ในการศึกษานาน 7 ปี จนผู้ถูกสำรวจมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 21.8 ปี คณะนักวิจัยพบว่า มีอยู่ 308 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.4% มีอาการที่เข้าข่ายการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ทั้งยังพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าน้อยกว่าผู้ชายหากบริโภคสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเวลาเท่าๆ กัน

          ผลศึกษาชี้ด้วยว่า เวลาที่เด็กวัยรุ่นหมดไปกับการหมกมุ่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ไปแทนที่เวลาที่ควรจะได้นำไปใช้กับการเข้าสังคม เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมประเทืองปัญญาต่างๆ ที่อาจป้องกันอาการซึมเศร้าได้

          นอกจากนี้  ข้อความต่างๆ ที่วัยรุ่นได้รับผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาจกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว ทำให้เกิดความกลัว หรือเครียด และอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาตัวเองด้วย นอกเหนือจากการรบกวนเวลานอน ที่สำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาอารมณ์ และความคิดของเด็ก

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือกรุงเทพธุรกิจ

 

 

update:20-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code