ทำอย่างไรให้ที่ไหน ๆ ก็ปลอด “บุหรี่”

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพโดย สสส.


ทำอย่างไรให้ที่ไหน ๆ ก็ปลอด


พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560  ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกอนุบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา


ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของประกาศฉบับดังกล่าวมีการกำหนดให้สถานที่สาธารณะ ยานพาหนะ และที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด รวมทั้งระยะ 5 เมตร จากทางเข้าออกสวนสาธารณะ ตลาด ป้ายรถเมล์ หรือปั๊มน้ำมัน เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด ไม่ให้มีเขตสูบบุหรี่ภายในบริเวณที่เป็นอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นมหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สนามบิน โดยกฎหมายอนุญาตให้สามารถจัดเขตสูบบุหรี่ตาม หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด บริเวณภายนอกอาคาร โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างได้


เป็นที่มาของเสวนา "ที่ไหน ๆ ก็ปลอดบุหรี่ ทำอย่างไรให้ถูกใจถูกกฎหมาย" ส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหรี่กับสุขภาพ" ครั้งที่ 18 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 20-21 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์ สิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดจากควันบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต


ทำอย่างไรให้ที่ไหน ๆ ก็ปลอด


การเสวนาพูดคุยถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ถูกกฎหมายจาก 3 ผู้แทน 3 หน่วยงาน ได้แก่ จิระวัฒน์ อยู่สบาย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ จริยาพันธ์ รุจิรัชกุล นักวิชาการชำนาญการกลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครปฐม และ นภาพล พิมพ์ทวด ผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานและชีวอนามัย บมจ.ท่าอากาศยานไทย


จิระวัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ว่า วันนี้มีเขตปลอดบุหรี่ 4 กลุ่ม ทุกกลุ่มล้วนเป็นลักษณะของการยกระดับจากเดิมที่ปลอดบุหรี่ 100% แต่ล่าสุดเขยิบพื้นที่เป็นบวกอีก 5 เมตร สำหรับพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่เพียงบางส่วนเมื่อปี 2553 ก็ค่อยๆ เขยิบมาเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% เรียกว่าเพิ่มระยะปลอดบุหรี่ขึ้นมาเรื่อย ๆ และเมื่อมีการกำหนดเขตปลอดบุหรี่แล้ว ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่แต่ละเขตต้องทำป้ายตรงบริเวณดังกล่าว หรือบริเวณทางเข้า ประตู รั้ว เวลานี้มีระบบร้องเรียนออนไลน์ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจที่คอยตรวจตราผู้ทำผิด ใครที่พบเห็น ผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ก็สามารถร้องเรียนโดยแนบภาพถ่ายคนทำผิดส่งไปได้ จากนั้นก็จะมีการส่งต่อให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับ โดยมีอัตราค่าปรับ 5,000 บาท


ทำอย่างไรให้ที่ไหน ๆ ก็ปลอด


สำหรับ จ.นครปฐม ซึ่งได้จัดตั้งถนนปลอดบุหรี่เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับ ผู้แทนจาก สสจ.นครปฐม อธิบายว่า เนื่องจากถนนเทศาเป็นที่ตั้งของหน่วยงานถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เป็นต้นว่า โรงเรียนและโรงพยาบาล แต่ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนว่าไม่มีป้ายหรือมาตรการใด ๆ กลับปล่อยให้มีการสูบบุหรี่หน้าโรงเรียนกับหน้าโรงพยาบาล จึงได้มีการนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการจังหวัดเพื่อขอความเห็นชอบ นำเรื่องราวเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา ตามมาด้วยการวางแนวทางให้หน่วยงานราชการเป็นต้นแบบของการทำสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการจัดทำถนนต้นแบบในเรื่องของถนนปลอดบุหรี่ ขณะเดียวกันก็พยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าถนนปลอดบุหรี่ไม่ได้หมายถึงถนนที่ไม่มีคนสูบบุหรี่เลย แต่จะต้องรู้ว่าสามารถสูบได้บริเวณที่กฎหมายกำหนด


เมื่อถนนเทศาเป็นสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ต้นแบบ นอกจากจะคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่แล้ว ยังจะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ โดยยังมีแนวนโยบายที่จะพัฒนาให้ถนนเส้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน


ทำอย่างไรให้ที่ไหน ๆ ก็ปลอด


ในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาตินั้น ผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานและชีวอนามัย บมจ.ท่าอากาศยานไทย กล่าวว่า ย้อนไปก่อนปี 2535 ขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฯ ดังนั้นในสนามบินจึงมีการจัดสถานที่สูบบุหรี่ แม้หลังจากปี 2535 มี พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ก็ตาม แต่ก็ยังอนุญาตให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ได้ จนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ได้กำหนดให้ท่าอากาศยานเป็นสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกำหนดให้พื้นที่และบริเวณทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นเขตปลอดบุหรี่ ทอท.จึงได้ยกเลิกห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสำนักงานและอาคารผู้โดยสารทั้ง 6 แห่ง รวมทั้งเก็บอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการสูบบุหรี่ทั้งหมด


แต่สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการสูบบุหรี่ ก็มีการจัดพื้นที่นอกอาคารเป็นเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนผู้โดยสารที่รอเปลี่ยนเครื่อง ต้องยอมรับว่าไม่สามารถออกมาสูบบุหรี่ที่โซนด้านนอกได้ โดย ทอท.ได้ทำหนังสือชี้แจงเพื่อให้รับทราบถึงกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ของประเทศไทย


ทำอย่างไรให้ที่ไหน ๆ ก็ปลอด


ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 18 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่คนไทยอย่าง สสส. โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการ สสส. บรรยายพิเศษ "the tobacco endgame in Thailand" ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคน และสัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 3:1 ในปี 2534 เป็น 4.2:1 ในปี 2560 โดยในปีนั้น คณะทำงานสหประชาชาติได้ยกย่องให้ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานการจัดการปัญหาโรค NCDs เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลก ร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์


ขณะที่องค์การอนามัยโลกยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส.ว่าเป็นนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก และประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย ฯลฯ ก็ใช้ สสส.ไทย เป็นต้นแบบ

Shares:
QR Code :
QR Code