ทำดี…ไม่ต้องเดี๋ยว

สังคมสุขได้ ด้วยตัวเราเอง

ทำดี…ไม่ต้องเดี๋ยว 

           โอกาสไม่ได้ห่างไกลจากตัวเราเลยเพียงแค่เอื้อมมือไปคว้ามันมาเป็นของเรา นี่คือคำพูดของ น้องน้ำ หรือ น.ส.อภิสรา เกตุนุติ อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี กล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่า เธอโชคดีที่เป็นจุดเล็กๆ ของสังคมที่มีโอกาสแต่งแต้มสีสันโลกที่มืดให้กับผู้พิการทางสายตา ในโรงเรียนการศึกษาวิทยาศาสตร์คนตาบอด เขาย้อย จ.เพรชบุรี ให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยปลายนิ้วสัมผัสจุดนูนๆ เล็กๆ บนอักษรเบลล์ (the braille code) ใน โครงการกระดาษ หน้า3 สร้างความงดงามให้สังคม

 

            การทำดีไม่ต้องเดี๋ยว ไม่ต้องรอให้พร้อม ไม่ต้องรอให้อายุมากขึ้น แต่เราสามารถเริ่มได้จากการหยิบยื่นให้เพื่อนมนุษย์ที่รอคอยความช่วยเหลือจากเรา นี่คือคุณธรรมพื้นฐานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เราต้องมี น้องน้ำ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

           น้องน้ำ เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ได้เข้ามาเรียนอยู่ที่โรงเรียนจุฬาภรราชวิทยาลัย เพชรบุรี ใน ช่วง ม.ต้น แม้จะเรียนดีมีเกรดรวม 3 ปี อยู่ที่ 3.89 แต่ก็ยอมรับว่า เวลาส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับการเรียน ไม่ค่อยได้เล่นกีฬาหรือกิจกรรมอื่นๆ ว่างก็เล่นอินเตอร์เน็ต อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และหาความบันเทิง เหมือนเด็กๆ ทั่วไป

 

           แม้เกรดสะสมจะอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม แต่ดูเหมือนว่า ชีวิตบางช่วงจะขาดหายไป กระทั่งช่วงปลายม.3 น้องน้ำจึงไม่รีรอที่จะเลือกเข้าร่วมกิจกรรม โครงงานกระดาษหน้าที่ 3 สร้างความงดงามให้สังคม เพื่อเติมเต็มให้กับชีวิตของเธอเอง

 

           น้ำบอกว่า โครงงานฯ มีพี่ตฤณ ธรรมเนียม ทำหน้าที่เป็นประธาน และ พี่ตูน อธิวัฒน์ พงศ์พานิช เป็นรองประธาน ซึ่งขณะนี้ได้จบการศึกษาไปแล้ว กลุ่มของพี่ตฤณได้อุทิศเวลาสอนผู้พิการทางสายตาที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กทม. ซึ่งเป็นโครงงานคุณธรรมกิจกรรมพี่สอนน้อง โดยเริ่มแรกเป็นเพียงการขอรับบริจาคเศษกระดาษรีไซเคิลเพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนคนตาบอด ต่อมามีแนวคิดว่าน่าจะแบ่งเบาภาระครูผู้สอนได้มากกว่านี้ จึงได้ขอเรียนประดิษฐ์อักษรเบลล์กับคุณครูโรงเรียนตาบอด เป็นจุดประกายความคิดให้น้ำต้องการขับเคลื่อนโครงงานฯเป็นรุ่นที่ 2 โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม โดยการประดิษฐ์เปเปอร์มาเช่ เป็นรูปสัตว์ รูปตุ๊กตา พวงกุญแจ เป็นของที่ระลึก นำออกไปจำหน่ายตามงานต่างๆเพื่อหาเงินมาใช่จ่ายในโครงงานฯ

 

           สิ่งที่ได้จากโครงงานฯ คือเรื่องของความรู้และคุณธรรมที่มักมาคู่กันเสมอ ส่วนการวางแผนก่อการทำงานก็เปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง กิจรรมนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่อาจหาได้ในห้องเรียน เป็นการเรียนรู้นอกระบบ สามารถคิดและแก้ไขปัญหาได้เอง

 

ในฐานะที่กำลังศึกษาอยู่ เรื่องการจัดสรรเวลาเป็นที่สำคัญ เพราะหน้าที่หลักคือการเรียน แต่เมื่อเราต้องการทำความดีเพื่อสังคมซึ่งถือเป็นหน้าที่เสริม ความยากจึงอยู่ตรงการจักตารางเวลาให้ลงตัวตัวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียน เพราะเป้าหมายของโครงงาน นอกจากจะสร้างความรู้คู่คุณธรรมแล้วยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองด้วย

 

            การเป็นผู้ให้ทำเกิดความอิ่มเอมใจ เมื่อได้เห็นใบหน้ายิ้มแย้มของผู้พิการทางสายตา ความตื้นเต้นมันเกิดขึ้นอยู่ในใจ เพราะเราช่วยส่งเสริมด้านการศึกษา เขาก็ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระครอบครัวหรือสังคม ทำให้เขารับรู้ว่าเขามีโอกาสและเท่าเทียมกับคนตาดีเสมอ เพราะแท้จริงแล้วเขาต่างกับเราตรงที่มองไม่เห็นเท่านั้น แต่ความคิด ความรู้สึกไม่ผิดแผกไปจากคนทั่วไป

 

            โครงงานกระดาษหน้าที่ 3 สร้างความงดงามให้สังคม คือ ความสามัคคี ความมีน้ำใจ เสียสละ ความอดทน และการมีสมาธิ เพราะการประดิษฐ์อักษรเบลล์สำหรับน้องน้ำแล้วต้องอาศัยความตั้งใจ วิธีการทำงานจึงต้องใจเย็นเพื่อป้องกันความผิดพลาด

 

           น้องน้ำอธิบายที่มาของชื่อโครงงานกระดาษหน้าที่ 3 สร้างความงดงามให้สังคมหมายถึงความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรราชวิทยาลัย เพชรบุรี ที่ได้ร่วมกันนำกระดาษรีไซเคิลคือกระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้ามาทำกระดาษมาเป็นหน้าที่ 3 บรรจุตัวอักษรเบลล์ให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา ขณะเดียวกันสังคมเองก็ได้รับประโยชน์จากการลดสภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

           ถึงวันนี้โครงงานกระดาษหน้าที่ 3 สร้างความงดงามให้สังคมก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 แล้ว แต่สามารถคว้ารางวัลต่างๆมาแล้ว โดยเวทีแรกคือรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงานคุณธรรมที่โรงเรียนได้ส่งเข้าประกวดในระดับเขต และได้เข้าร่วมประกวดโครงงานคุณธรรมในระดับภาค จนได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนในการประกวดโครงงานคุณธรรมระดับประเทศ และคว้ารางวัลยอดเยี่ยมระดับประเทศ โดยได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯมาครอง

 

           ในก้าวย่างที่ 3 ของโครงงาน ที่แม้จะมีสมาชิก 9 คน แต่ทุกคนล้วนตั้งความหวังว่า จะขยายฐานการประดิษฐ์อักษรเบลล์เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนคนตาบอดนอกพื้นที่ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้รับโอกาสจากนักเรียนโรงเรียนจุราภรราชวิทยาลัย เพชนบุรี อย่างเท่าเทียมกัน

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร team content www.thaihealth.or.th

 

 

update 09-12-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร

 

 

           

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ