ทำความรู้จัดโรคปลอกประสาทอักเสบ

ที่มา : SOOK Magazine No.70


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ทำความรู้จัดโรคปลอกประสาทอักเสบ thaihealth


หลายคนอาจไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อโรคปลอกประสาทอักเสบหรือ MS เพราะเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และต้องอาศัยการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชียวชาญเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจคือหลายคนไม่รู้ว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ และปัจจุบันมีผู้ป่วยโรค MS กว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก ดังนั้นการทำความรู้จักโรคนี้ไว้สักนิดย่อมช่วยให้ดูแลตัวเองได้ทันท่วงที


MS ปลอกประสาทอักเสบ


โรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็มเอส (MS หรือ Multiple Sclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา เนื่องจากเม็ดเลือดขาวหลั่งสารที่ทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาท ทำให้ระบบประสาทเสียหาย และเกิดการอักเสบจนกลายเป็นแผลที่เนื้อสมอง ส่วนใหญ่พบในวัย 18-45 ปี รวมถึงในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ นอกจากนั้นแล้วยังพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ชายจะมีอาการหนักกว่าผู้หญิง


ปัจจัยเสี่ยงก่อเกิดโรค แม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าโรค MS เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่


1. พันธุกรรม แม้จะไม่ได้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ในครอบครัวที่มีประวัติการป่วยก็มีโอกาสเสี่ยงได้


2. เชื้อไวรัส การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอ็บสไตบาร์ หรือที่เรียกว่า เชื้ออีบีวี (Epstein-Bar Virus: EBV) ซึ่งส่งผลต่อภูมิคุ้มกันร่างกายและทำให้มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต


3. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ และลำไส้อักเสบ เป็นต้น


4. การขาดวิตามิน D มีวิตามิน D ในร่างกายต่ำ


อาการสัญญาณ Ms


ในแต่ละคนอาการของโรคจะหนักเบาไม่เท่ากัน และยังมีอาการที่หลากหลายแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางคนแสดงอาการน้อยมากหรือบางคนก็อาจมีอาการหนักจนใช้ชีวิตประจำวันยากลำบาก รุนแรงไปจนถึงพิการก็มี ลองมาดูอาการที่พบบ่อยหากเป็นโรค MS


1. ด้านการมองเห็น เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็น เจ็บตา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง


2. ด้านการทรงตัว สูญเสียการทรงตัว อ่อนแรง ขากระตุก หกล้มง่ายมือสั่น การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สอดคล้องกัน


3. ด้านสมอง มีปัญหาด้านความคิด การตัดสินใจ ความจำ รับและทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ได้ช้า อาจมีอารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้าได้


4. ด้านการพูด พูดไม่ชัด รวมไปถึงเคี้ยวหรือกลืนอาหารลำบาก


5. ด้านระบบปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และท้องผูกอยู่บ่อย ๆ


6. รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย เหน็บชาตามแขนขา และบริเวณใบหน้า เมื่อขยับคอจะรู้สึกเหมือนโดนไฟช็อต


วิธีการรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาแบบให้หายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อฟื้นฟูร่างกายและควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ


1. รักษาด้วยยา ตามอาการของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นยาที่บรรเทาอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น


2. การบำบัด โดยยึดเส้นและออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงลดการสั่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัว โดยการออกกำลังกายที่ แนะนำคือ โยคะ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก รวมทั้งยังเป็นการช่วยยืดเส้นอีกด้วย


ป้องกันได้ แค่ดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้ นั่นคือ


1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นนิสัย


2.กินอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย


3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


4. ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส


5. ลด ละ เลิกสุราและบุหรี่


ดังนั้น สิ่งสำคัญนอกจากการดูแลตัวเอง คือการสังเกต หมั่นตรวจเช็ก และฟังคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

Shares:
QR Code :
QR Code