ทางเลือกใหม่เรื่องที่ดิน ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
"630,000 ไร่ ตัวเลขของผู้มีที่ดินครอบครองมากสุดในประเทศไทย"
ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เอ่ยขึ้นในเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและร่วมถ่ายทอดให้ชุมชนสามารถจัดการที่ดินด้วยชุมชนเอง ท่ามกลางกระแสข่าวการตรวจสอบการบุกรุกที่ดินสาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ป่า โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) มี องค์กรชุมชนเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง
ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า เดิมที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ดินยังเป็นสินทรัพย์ และเป็นแหล่งอนุรักษ์ด้วย ซึ่งการจัดการที่ดินโดยชุมชน เป็นทางเลือกใหม่ที่ควรเข้ามาแทนที่การจัดการของรัฐที่เดิมใช้กลไกตลาดในการจัดการ แต่ปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตลาดได้เต็มที่ เนื่องจากความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มีความต่างกัน และทำให้มูลค่าที่ดินมีความต่างกัน
สถานการณ์ในปัจจุบันได้เปิดช่องให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าที่เป็นพื้นที่ทำกินโดย อปท.ต้องตรวจสอบที่ดินของเราที่มีอยู่ว่าพื้นที่ไหนเป็นสาธารณะ อาทิ นายกฯบอกว่า ที่ดินตรงไหนในชุมชนที่สัมปทานหมดอายุแล้วให้ตกเป็นของชุมชน แต่อปท.ส่วนใหญ่ไม่รู้ สิ่งที่จะทำได้ต่อไปคือต้องจดทะเบียนเป็นสหกรณ์และมีแปลงที่ดินที่ชัดเจน แล้วมาจัดสรรให้คนในชุมชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน เช่น พื้นที่ สทก. กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปทำกินในพื้นที่ป่าสงวนได้แต่มีอายุ 30 ปี หรือที่ดินริมหาดทรายที่ต้องไปเจรจาขอนายทุน แล้วไปจัดสรรที่ดินตรงอื่นได้
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การจัดงานการจัดการที่ดินเป็นงานที่ พอช. ขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่มานาน สสส.จะเข้ามาหนุนเสริมทั้งการปฏิรูปเชิงนโยบาย โดยการยกร่างกฎหมายใหม่ กระจายความรู้กระบวนการไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง มีการขับเคลื่อนการทำข้อมูล GPS ในพื้นที่ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 2,000 ชุมชน โดยตั้งต้น พื้นที่ จ.แม่ฮ่อนสอน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่ดิน โดยจะถอดบทเรียน และขยายพื้นที่ทุกภาคของประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยสร้างแกนนำทั้งนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น หรือคนในชุมชน
บรรจง พรมวิเศษ ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ถ่ายทอดวิธีแก้ปัญหาที่ดินหลุดมือของชุมชนว่า เริ่มต้นการแก้ปัญหาที่ดิน คิดเรื่องการออมขึ้นมา เพราะการออมจะได้คนมาร่วมคิดร่วมกันทำให้มีทุนมาประกอบอาชีพของตัวเองต่อไป ที่นี่จึงมีเงินกองทุนหลากหลายทั้งกองทุนหมู่บ้าน กองทุนที่ดิน กองทุนอาชีพ เป็นต้น ซึ่งเริ่มต้นส่งเสริมให้รวมกลุ่มการออมตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ขณะนี้มีเงินออมของชุมชนเก็บไว้ให้เกิดดอกผลงอกเงย ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และสลากออมสินรวม 30 ล้านบาท และยังมีเงินกองทุนดังกล่าวข้างต้นรวม 100 กว่าล้าน เพื่อมาจัดสรรเป็นเงินกู้ให้กับชาวบ้าน และมีสถาบันรับฝากเงินที่มีผลตอบแทนในเรื่องของดอกเบี้ย และสวัสดิการ เช่น เจ็บป่วยนอน รพ. เสียชีวิต การศึกษาบุตร
"โดยเฉลี่ยอัตราเงินฝากของชุมชนเพิ่มขึ้นปีละ 10 ล้าน จนเราต้องจำกัดวงเงินฝากฝากได้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เพราะเราดูแลเงินตรงนี้ไม่ไหว เขาทำอาชีพเกษตรปลูกต้นไม้มีรายได้ก็มาฝากกับเรา เพราะเรามีวิธีการคัดเลือกกรรมการดูแลเงินออมที่ชาวบ้านช่วยกันคัดเลือกเอง มีความไว้เนื้อเชื่อใจ อีกอย่างจุดเด่นของชุมชนส่วนใหญ่เราเป็นญาติพี่น้องกัน"
ส่วนกรณีที่ดินหลุดมือนั้น เรามองว่าในอดีตคนไม่มีความรู้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ขาดการวางแผน แต่เมื่อร่วมกันคิดจะมีส่วนไม่ให้ที่ดินหลุดมือได้ ในพื้นที่ของชุมชนขณะนี้มีที่ดินหลุดมือไปอยู่กับคน ต่างถิ่น 46 ไร่ ชุมชนได้ลงมติจะขอซื้อคืนมูลค่า 10 ล้านโดยใช้เงินกองทุนที่มีอยู่ จากนั้นจะมาจัดสรรให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยผ่อนส่งกับกองทุน
สำหรับกรณีพื้นที่ทับซ้อน พื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านได้กันสำรวจพื้นที่ใช้แผนที่ทำมือแล้วนำไปตรวจสอบกับกรมป่าไม้ เพื่อพิสูจน์สิทธิกันเพื่อลดกรณีพิพาททุกคนมีกติกาที่ชุมชนเห็นร่วมกัน
ด้าน นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อบต.แม่ทา มีการจัดทำข้อมูลในพื้นที่ โดยนำมาวางแผนร่วมกันในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม โดยจัดพื้นที่การใช้สอยไม่ให้มีโรงแรม รีสอร์ท แต่มีเป้าหมายให้เป็นพื้นที่ที่ผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้คนในชุมชน ซึ่งกระบวนการหลังจากได้รับมอบที่ดินจากรัฐให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ทาง อบต. ได้มีการลงพื้นที่และวางแผนในเรื่องการให้ความรู้และการทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างในช่วงดำเนินการ
เหล่านี้คือตัวอย่างของชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองได้.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์