“ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก”

สร้างพื้นที่เหมาะสมแก่เด็ก

 

          เป็นเรื่องที่คนธรรมดาทั่วไปนึกไม่ถึงจริงๆ ว่าจะมีการพูดถึงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดที่มีอันตรายต่อเด็กถึงขั้นนำพาไปสู่ความตายได้ คิดแบบสามัญชนทั่วไปที่ไหนก็ตายได้ทั้งนั้น

 

“ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก”

 

          แต่ลองมามองให้ลึกๆ แล้ว ถ้าพื้นที่ในแต่ละจังหวัดนั้นๆ มีการเอาใจใส่ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ เวลาดูแลลูกอย่างจริงจังมีน้อยในแต่ละวัน ย่อมมีโอกาสที่จะระมัดระวังมิให้เกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆ ได้น้อย เพราะย้อนไปดูปัจจัยเสี่ยงอัตราเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมีมากมายเกินคาดคิด

 

          จึงเป็นที่มาของการให้ภาครัฐ เฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดกับเด็กในพื้นที่ต่างๆ ทุกจังหวัด กำหนดแนวทางการกำจัดอันตรายหรือลดสถิติอันตรายจนถึงตายให้น้อยที่สุดให้หมดไปภายในเวลาสิบปี

 

          ด้วยการกำหนด “ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก” เพื่อบรรลุนโยบายโลกสร้างพื้นที่เหมาะสมแก่เด็กเยาวชนขึ้น

 

          รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส. กล่าวว่า จากการศึกษาจังหวัดอันตรายสำหรับเด็กทั่วประเทศ ทั้ง 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ อายุ 1-4 ปี, 5-9 ปี และ 10-14 ปี ต่อเนื่องในรอบ 10 ปี พบว่ามี 25 จังหวัดที่มีอัตราการตายในเด็กสูงขึ้น โดยจังหวัดกาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี และระยอง ติด 4 จังหวัดที่มีอัตราเสี่ยงตายของเด็กสูงที่สุดในประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบค่า GPP/c ทั่วประเทศจะพบว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีความมั่นคงของรายได้เข้ามาเป็นอันดับ 1 (จำนวน995,733 บาท) คิดเป็น 3.2 เท่าของ กทม.(311,225 บาท) ขณะที่สระบุรี ลพบุรีและระยอง ติดอันดับที่ 10, 23 และ 31 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า การขยายตัวของชุมชนแออัดที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วจนเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดเสี่ยงตายสูงสุด หากไม่แก้ปัญหา ชุมชนจะเริ่มมีสภาพ “ความเป็นเมือง” ที่ไร้คุณภาพ ก่อให้เกิด “คนจนเมือง” เหมือนคนกรุงเทพฯ สมัยก่อน จนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการตาย เช่น จมน้ำถูกรถชน และอุบัติเหตุอื่นๆ

 

          “ความยากจนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการตายและการบาดเจ็บในเด็กมากที่สุด โดยมีเด็กร้อยละ 70 ที่เสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัยที่อยู่ในครอบครัวที่มีศักยภาพต่ำ ขาดผู้ดูแลใกล้ชิด จึงเป็นที่มาของการค้นหา “ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กที่สังคมยอมรับไม่ได้” เพื่อนำไปสู่เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับเด็ก ฉะนั้น การผลักดันให้มีการขยายศูนย์เด็กเล็ก บ้านหลังเรียน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความยากจนสูง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตกลงในการประชุมของสหประชาชาติ ที่ระบุต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กเยาวชนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพภายในปี 2559 (A World Fit For Children) โดยมีเป้าหมายว่า ต้องลดอัตราการตายของเด็กให้ไม่เกินจำนวนเท่าใด ซึ่งหากประมวลจากการตายของเด็ก 10 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่า การบรรลุข้อตกลงคงเป็นไปได้ยาก”

 

          ด้านสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำของเด็กนั้น จะต้องมีการประสานความเข้าใจในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้เด็กและเยาวชนให้ตรงตามปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะกระบวนการสร้างความตระหนักของสังคมให้มีส่วนร่วมนั้น ต้องสอดรับกับข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ในเด็กที่ชัดเจน เพื่อประกอบในการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเด็กนั้น จึงจำเป็นต้องมีปัจจัย 3 ประการคือ 1.มีมาตรการเฝ้าระวังเตือนภัยในเด็กที่มีประสิทธิภาพ 2.มีการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัย และสถิติความเสี่ยงที่ชัดเจน และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโลกที่ดีสำหรับเด็กปี 2550-59 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการตายของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          เพื่อบรรลุนโยบายโลกสร้างพื้นที่เหมาะสมแก่เด็กเยาวชนจริงๆ “ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก” ควรเกิดมานานแล้ว แต่เมื่อเพิ่งจะเกิดตอนนี้ก็ยังไม่สาย ขอให้เกิดอย่างจริงจังทั้งประเทศภายในสิบปีนี้

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

 

Update : 14-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code