ทวงคืนอากาศสะอาด เพื่อลมหายใจที่ดีของทุกคน
เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานเปิดตัว “อุโมงค์ปอด” ต่อยอดโครงการ MRT Healthy Station
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ปัจจุบันไทยพบปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
ประกอบกับข้อมูลด้านการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปี 2566 คนไทยป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวมกว่า 9 ล้าน 2 แสนคน ยิ่งสะท้อนให้เห็นความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างเผชิญอยู่ และต้องร่วมจัดการต้นตอ ลดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและภาระโรคจำนวนมาก
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ จัดประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 ในหัวหัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่
เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันของประเทศร่วมกัน ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ล้วนมีความเสี่ยงด้วยโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
“สสส. จึงได้ยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เข้ามาเป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยพลังทางปัญญา สังคม และนโยบาย สานพลังความร่วมมือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนงานวิชาการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมหนุนเครือข่ายสภาลมหายใจ 9 จังหวัดในภาคเหนือ แก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม”
ดร.สุปรีดา กล่าวเสริมอีกว่า เรามุ่งหวัง กระตุ้น สาน เสริม การแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบาย มาตรการท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ตลอดจนวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับการดูแลสิ่งแวดล้อม
น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด มีสาระสำคัญกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในประเทศไทย เป็นสิ่งที่เรื้อรังมายาวนาน ไม่เพียงแค่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล หรือทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มานานกว่า 15 ปี แต่ละช่วงเพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อย ๆ จาก 2-3 เดือนเป็น 4-5 เดือน วิกฤตที่เพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี จนทำให้จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้
สถิติจังหวัดภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุด ปี 2566 ระยะเวลา 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 22.05%, ตาก 13%, ลำพูน 12.83%, ลำปาง 9.83%, น่าน 9.32%, เชียงใหม่ 8.50%, แพร่ 7.88%, พะเยา 6.85% และเชียงราย 5.08% เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทำให้เห็นว่า การเผาป่าภาคเหนือตอนบนยังไม่ลด
รัฐบาลให้ความสำคัญในการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขวิกฤตปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด พร้อมจัดตั้งคณะ PM2.5 แห่งชาติ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ และบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทควบคุม ปรับลด แก้ไขปัญหาร่วมกัน
จากการลงพื้นที่ไปดูการทำแนวกันไฟ นายบุญศรี หม่อมป๊ะ ผู้ใหญ่บ้านปงใต้ หมู่ที่ 1 ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เล่าวิธีช่วยป้องกันไฟป่าและลดฝุ่น PM2.5 โดยยกตัวอย่าง เขาลูกหนึ่งนี้ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ไม่เคยเกิดไฟป่าเลยเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว
เนื่องจากชาวบ้านทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะออกมาช่วยกันทำแนวกันไฟในช่วงหน้าแล้งหรือเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีระยะทางยาว 5.5 กิโลเมตร และกว้าง 8 เมตร พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องเป่าใบไม้ ไม้กวาด และคราด เพื่อคอยกวาดเอาหญ้าและใบไม้แห้งออกจากพื้นที่ ทำเป็นระยะเวลา 4 เดือนจนกว่าจะถึงหน้าฝน
“นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยจัดเวรเฝ้าระวังไฟป่า คอยลาดตระเวนดูพื้นที่ หากเกิดเหตุแจ้งในไลน์กลุ่ม ขอกำลังเสริมเข้าดับไฟในพื้นที่เกิดเหตุภายใน 15 นาที
และหากกรณีไฟป่าสูงเกิน 2 เมตร ก็ยังมีแนวกันไฟที่ชาวบ้านช่วยกันทำป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลาม มาตรการนี้ยังดำเนินการพร้อมกันทั้ง 11 หมู่บ้านของ ต.บ้านปง ทำให้จากเมื่อก่อนภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาหัวโล้น ก็กลายมาเป็นภูเขาที่มีต้มไม้อุดมสมบูรณ์” ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ
“…จะเห็นได้ว่าฉากทัศน์ความร่วมมือกัน จากจุดเล็ก ๆ ดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่ดีเมื่อทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ต่างเข้ามาช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองเล็ก ๆ ที่เป็นมลพิษทางอากาศระดับโลกอย่างจริงจัง ย่อมส่งผลให้เกิดอากาศสะอาดในประเทศไทยได้…”
สสส. เชื่อมั่นถึงการผลักดันและสนับสนุนเพื่อให้เกิด พ.ร.บ. อากาศสะอาด จะสามารถสร้างความมั่นคง ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
นั่นเป็นเพราะ เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า โลกทั้งใบต่างมีลมหายใจเดียวกัน…