ทรงพล ชัยมาตรกิจ จัดสมดุลชีวิต 3 ด้าน ส่วนตัว-ครอบครัว-สังคม
ยึดหลักสมการชีวิต : หาเหตุรัก “งาน” = ผลงานที่เรารักงานจะทำ
ชื่อของ ทรงพล ชัยมาตรกิจ อาจไม่เป็นที่รู้สึกเหมือนบุคคลสาธารณะทั่วไปทั้งหลายแต่ถ้าคุยเรื่อง “ทีวีไดเร็กต์” ที่เข้ามายึดครองเวลาทางหน้าจอทีวี โดยเฉพาะยามค่ำคืนดึกดื่นหรือแม้กระทั่งช่วงที่เอเจนซี่ไม่นิยมซื้อเวลา เพราะมีจำนวนคนดูน้อย
แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับ ทรงพล ที่กระโดดโลดแล่นอยู่ในวงธุรกิจขายสินค้าผ่านทางทีวีมากว่า 10 ปี เขามักคุยให้ฟังเสมอว่า งานที่จับนี้ เป็นความโชคดีบนความโชคร้าย ความที่เป็นคนใช้เงินเก่ง กระทั่งคุณแม่ต้องออกมาให้หาเงินใช้เอง ช่วงเรียนอยู่ ปวช. เขาจึงต้องเรียนภาคค่ำไป และทำงานกลางวันหารายได้ไป
จนเมื่อนึกย้อนตอนโกรธคุณแม่เวลานั้น วันนี้ต้องขอบคุณท่านมากๆ ถ้าไม่ได้แรงคำพูดผลักดัน เขาคงไม่ได้เป็นเช่นวันนี้
“ประสบการณ์ที่เราทำงานมาจนถึงวันนี้ เกือบสัก 20 ปี ได้ซึมซับหลายรูปแบบ ตั้งแต่พบปะ ค้าขายกับคนระดับล่าง ชนิดที่คุณอาจคาดไม่ถึง เมื่อมาเป็นซีอีโอ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นตัวตั้งในการให้เราพิจารณา ยามมองดูคน หรือมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองที่หลากหลายมากเพียงพอ ใครจะเคยคิดว่าซีอีโอทีวีไดเร็กต์เคยขายก๋วยเตี๋ยวอยู่กรมขนส่ง”
ทรงพลเล่าถึงการไต่เต้าในชีวิตหน้าที่การงาน เสริมขยายความว่ากว่าจะบริหารจัดการชีวิตลงตัว ก็ต้องปรึกษาผู้ใหญ่ ผู้รู้ โดยเฉพาะคุณลุงของเขา สกัดความหมาย “ชีวิต” ไว้ให้ง่ายต่อการเข้าใจและจัดการว่ามี 3 ด้าน นั่นคือ ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และสังคม เป็นสามสิ่งที่คนเราต้องทำให้ “สมดุล” ให้ได้ บริหารแบบไหนก็ควรให้เป็นไปแบบธรรมชาติซึ่งต้องอาศัย ศาสตร์และความเป็นศิลป์ ซึ่งต้องอาศัย happy brain การศึกษาหาความรู้มาพัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆ เพื่อไปสู่ความเป็นมืออาชีพและความมั่นคงก้าวหน้า
คงเคยได้ยิน “ช้า เร็ว หนัก เบา” หมายถึงช่วงไหนที่ต้องทำงานหนักก็ทุ่มเท ถ้าเป็นช่วงงานหนักแต่กลับบอกว่าไม่ได้ ต้องให้ครอบครัวก่อนจะเกิดอะไรขึ้น…มันจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ถ้าช่วงงานเบา หนีไปเที่ยวกับครอบครัว ทำกิจกรรม มันก็ลงตัว ชนิดที่ว่า ต้องจัดการให้เกิด happy family เพื่อครอบครัวมั่นคง อบอุ่น ขณะเดียวกัน ก็ happy relax ในบางโอกาสผ่อนคลายสิ่งต่างๆ ในการดำเนินชีวิต
อยากให้ลองคิดดู บางคนทำงานหลัก บ้างาน พอมีเวลาว่างจะทำอะไรไม่ได้ทำก็คิดฉันไม่มีค่าแล้ว ฉันต้องหางานทำ นั่นจะยิ่งเครียด หาไม่ได้กดดันคนอื่นเพื่อเอางานมาอีก จึงกลายเป็นเรื่องลำบาก
หากเปรียบแล้ว สิ่งสำคัญ คนเราทำงานเหมือนวิ่งผลัด 4x100 เมตร ดังนั้น ทุกคน ทุกไม้มีนัยยะทั้งสิ้น ขาดไม้หนึ่งไม้ใดไม่ได้ และ 4 ไม้นี้เท่ากันแค่ไม้สุดท้ายเท่ที่สุด ฉะนั้น สามไม้แรก เราต้องพยายามทำให้เข้าใจว้าทำไมถึงจะไปสู่เป้าหมาย? เพื่อนำไปสู่การวิ่งเข้าเส้นชัย ไม้สุดท้ายจึงไม่แปลกที่จะเป็นที่รู้จักของผู้คน ซึ่งก็คือ ทีมทำงานประสบผลสำเร็จก็ดังกว่ามันก็คือ happy society ที่ต้องสร้างความรัก สามัคคีกับทีมเวิร์ค
งานที่เราทำจึงต้องเต็มกำลัง ทำด้วย “ใจ” จึงจะเกิดคุณภาพชีวิตในคนทำงาน
ธุรกิจวันนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวธุรกิจ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องจักร หรือตัวระบบ ต่อให้ระบบดีแค่ไหน ถ้าคนไม่ดี ระบบที่ดีก็พังได้ ตัวเองเห็นมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เขาทำ ใช้ผู้คนมากเป็นหลัก อย่าง คอล เซ็นเตอร์ จะใช้ใครใช้หุ่นยนต์ก็ไม่ได้ เราต้องใช้ “คน”
ดังนั้น การจะให้คนหนึ่งคนมี “ความสุข” ในการทำงานพร้อมๆ กันอีก 600 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องค่อยๆ ทำ เพราะไม่สามารถบริการทุกคนได้ 100% แต่คนละนิดคนละหน่อย นี่ล่ะ…คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น
ที่สำคัญ พฤติกรรมที่ทำในที่ทำงาน คุณว่ามีผลไปถึงที่บ้านหรือไม่เราทำงานวันหนึ่ง 8-12 ชั่วโมง อย่างน้อยต้องมีสักอย่างไปโผล่ที่บ้านเราทำความเข้าใจให้เขาได้ว่า การประพฤติปฏิบัติดีพอ หัวหน้าดูแลพนักงานดี พนักงานกลับบ้านไปดูแลครอบครัวเขาได้ดีพอ มันเชื่อมโยงกัน
เพราะฉะนั้น คุณภาพ ไม่ได้หมายถึง แค่ที่ทำงาน แต่ชีวิตของพนักงานคนทำงานด้วย ดูแลเขาได้ดีในที่ทำงาน ที่บ้านเขาก็จะดี ถ้าที่บ้านดี คนเรามีความสุขไหม น่าจะสุข ยกเว้น คนบางประเภท ที่เป็น money center คือคนที่เห็นเงินเป็นที่ตั้ง อันนี้ต้องทำใจ
ดังนั้น การสร้างความสุข ความคิดของทรงพล ชัญมาตรกิจ มีคำแนะนำว่า เราต้องสร้างนัยสำคัญระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ตัวงาน” ก่อน เทคนิคมีแค่ถ้างานไม่มีความสำคัญกับตัวเรา ถามว่าจะมีความหมายอะไรกับงาน เมื่อตัวเราและงานไม่มีความหมายต่อกัน จะสำคัญอย่างไร เช้าชามเย็นชาม
แต่คำถาม คือ ถ้าคนไม่เคยรักงานนั้น จะมีใจรักได้อย่างไร สมมติเรามีลูก ลูกมีความหมายกับเราไหม ทำไมถึงมีความหมาย เราทำอะไรดูแลเขาอย่างดี หาเงินส่งเสียให้เรียนโรงเรียนดีๆ เรียนพิเศษ ไม่เห็นต้องมีใครบอกว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะอะไร นั่น เพราะลูกมีความหมายกระบวนการเดียว มองงานให้มีความหมาย
…หากให้ภาพที่เห็นชัดๆ ว่า ทรงพลเล่าว่า เคยมีครูสองคน ที่เขาสงสัยถามว่า มาเป็นครูทำไม? ครูคนแรกบอกจบมาด้านนี้ ถึงเวลาสอนตรงเวลามากกริ่งดังปุ๊บ หยุดเลย นักเรียนเดินออกจากห้อง เคยแอบปีนหนีครู ท่านก็เห็นแต่ไม่ว่า ทำหน้าที่ครูไปเรื่อยๆ ครูอีกท่าน ตอบว่า ที่เป็นครูเพราะต้องการสร้างคนไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อให้แข่งขันกับสากลได้
งานชิ้นเดียวกัน ทำไมคนสองคนให้ความหมายกับความสำคัญไม่เหมือนกัน อยู่ที่วิธีคิดใช่หรือไม่ ฉะนั้น อยู่ที่วิธีคิดของคุณค่าของเราต่างหาก ว่างานนี้น่าทำหรือไม่น่าทำ ต้องลองและลงไปปฏิบัติเอง ไม่มีใครช่วยได้ถ้าอยากรู้แจ้งเห็นจริงต้องทำด้วยตัวเอง
ตอนท้ายมีคำฝากที่ว่า คนเราหาเหตุผลที่จะรัก (งาน) ให้ได้ก่อนพอหาเหตุผลได้เราก็จะรักกับงานที่ทำนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update 24-09-51