ทต.เมืองแก จ.สุรินทร์ ต้นแบบ อปท.สร้างเสริมสุขภาพชุมชน

เทศบาลตำบล (ทต.) เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เป็น 1 ใน 9 ตำบล นำร่องที่เข้าร่วมโครงการ “พัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริม สุขภาพให้แก่บุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)” ซึ่งเกิดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ ปี 2551 ที่ต้องการสร้างเสริมกระบวนทัศน์และทักษะในการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินโครงการด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น


ทต.เมืองแก จ.สุรินทร์ ต้นแบบอปท.สร้างเสริมสุขภาพชุมชน


หลังจากเข้าร่วมพัฒนาทักษะตามโครงการพัฒนาทักษะฯ แล้ว ใน ทต.เมืองแก ก็เกิดทีมสุขภาพที่มีตัวแทนจากเทศบาล ตัวแทนจากชุมชน และตัวแทนจากสาธารณสุข ซึ่งทุกคนได้รับการพัฒนาทักษะด้านการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการใช้กระบวน การการมีส่วนร่วม ของชุมชน เริ่มตั้งแต่การจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ปัญหา การคัดเลือก ปัญหา การจัดทำแผนงานและนำไปสู่แผนการปฏิบัติงาน


โดยผลจากการถอดบทเรียนปีที่ 1 พบว่าเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในหลายๆ ด้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประชาชนเกิดการตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของตนเอง และเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากขึ้น ทำให้ปัญหาด้านสุขภาพและสังคม มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ


ปัจจุบัน ทต.เมืองแก มีโครงการด้านสร้างเสริมสุขภาพ ที่ตกผลึกมาจากความสำเร็จของการพัฒนาทักษะฯ จำนวน 14โครงการ ครอบคลุม 9 ประเด็น คือ เด็กเยาวชน ครอบครัวชุมชน ลดละเลิกอบายมุข การจัดการสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัย เกษตรปลอดสารพิษ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การจัดการสวัสดิการชุมชน และผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม


นอกจากนี้แล้ว ทต.เมืองแก ยังส่งทีมสุขภาพ สมัครเป็นพี่เลี้ยงของโครงการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพ ให้แก่บุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รุ่นที่ 2 จำนวน 7 แห่งอีกด้วย


นายศุภชัย เศรษฐศักดิ์อำพล นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกกล่าวว่า ปัญหาเรื่องสุขภาวะเป็นสิ่งจำเป็นที่ท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องให้ความสำคัญ และดูแลอย่างทั่วถึง เพราะมีความใกล้ชิดและเข้าถึงชุมชนได้ง่าย ซึ่งก่อนที่เราจะทำโครงการอะไรขึ้นมา ก็ต้องมีการประชาคม เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการและแก้ปัญหาของชุมชนเอง คนในชุมชนสามารถแสดงความเห็น แสดงความต้องการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อเทศบาลฯ หันมาส่งเสริมสุขภาพแล้ว พบว่า ชาวบ้านให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นการทำงานที่ใส่ใจถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนได้อย่าง ครอบคลุมรอบด้าน


ไม่เพียงแต่การที่เราจะพัฒนาเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคเท่านั้น เรื่องสุขภาพของคนในชุมชนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากคนในชุมชนมีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินงานต่างๆ ของเทศบาลฯ เป็นไปได้อย่างราบรื่น


โดยกลุ่มโครงการที่ชาวชุมชนจัดตั้งขึ้นที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานตามโครงการ พัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรในองค์การบริหาร ส่วนตำบล (อบต.) คือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มหมู่บ้านปลอดอบายมุข โดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์นั้นได้มีการส่งเสริมให้ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ไม่มีการใช้สารเคมี ซึ่งมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำนาหันมาปลูกข้าวแบบเกษตร อินทรีย์มากขึ้นทุกๆ ปี เพราะช่วยลดต้นทุน และช่วยเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี


อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กลุ่มทำนาเกษตรอินทรีย์จะประสบความสำเร็จนั้น ก็ไม่ใช่ง่ายนักที่จะเปลี่ยนแปลงการทำนาเคมีที่ชาวบ้านคุ้นเคยมาก่อน เพราะการทำนาเกษตรอินทรีย์จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าความสำเร็จจะผลิดอกออกผล แต่การใช้เคมีนั้นให้ผลรวดเร็วทันใจเห็นผลทันที ซึ่งตรงนี้เราต้องเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้าน อย่างมาก ถึงผลดีผลเสียของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์และแบบเคมี


 “ในส่วนของกลุ่มหมู่บ้านปลอดอบายมุข ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัด คือ มีการติดป้าย “บ้านนี้ปลอดเหล้า” ไว้ที่หน้าบ้านของครัวเรือนที่ไม่ดื่มเหล้า ซึ่งใครที่จะไปเยี่ยมเยือนบ้านไหน ก็ต้องคิดแล้วว่า บ้านนั้นไม่ดื่มเหล้า ถือเป็นกุศโลบายที่ช่วยลดปัญหาอบายมุขได้อย่างดี ซึ่งขณะนี้มีบ้านที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 90 หลังคาเรือน ซึ่งดำเนินงานอยู่ภายในหมู่บ้าน คูน้อย ม.2 ต.เมืองแก อ.ท่าตูม และจะมีการขยายผลการดำเนินงานไปยังหมู่บ้านอื่นๆ อีกแน่นอน” นายกเทศมนตรีเมืองแก กล่าวทิ้งท้าย


ด้าน อ.สุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการขยายผลการ พัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กล่าวว่า จุดเด่นของ ทต.เมืองแก คือ มีทุนของตัวเอง คือ ความพร้อมและความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ อนามัย และมีผู้บริหารที่สนใจเรื่องสุขภาพชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นผู้คิดจัดการด้วยตนเอง มีการประยุกต์แนวทางการทำงานให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ ซึ่งเมื่อดำเนินงานตามแผนงานออกไปแล้วสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและเป็น รูปธรรมยิ่งขึ้น


เทศบาลตำบลเมืองแก เป็นอีกหนึ่ง อปท. ตัวอย่าง ที่ อปท.ต่างๆ ควรเอาอย่างความสำเร็จของกระบวนการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนตลอดไป


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


 

Shares:
QR Code :
QR Code