ถอนน้ำเมาจากงานบุญ
ที่มา : แนวหน้า
ภาพโดย สสส.
ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา "บุญไม่เปื้อนบาป ถอนน้ำเมา จากงานบุญ"
โดย พระปัญญานันทมุณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ กล่าวว่า ชาวพุทธมีแบบอย่างที่ทุกคนทราบกันนั้นคือ พระพุทธเจ้า ที่ตอนออกบวชในตอนกลางคืนมีเพียงแค่ 3 ชีวิต คือ นายฉันทะ ม้า และพระองค์ ไม่มีสิ่งอื่นใดมาแอบแฝงจากนี้เลย เพราะการบวช คือ ลด ละ เลิก ไปสู่ทาง ที่ประเสริฐ พบธรรม ไม่ใช่ไปหาเวรกรรม ไม่มีแบบอื่น มีเพียงแบบเดียวเท่านั้นคือแนวของพระพุทธเจ้า ที่แสวงหา บุญไม่ใช่แสวงหาบาป และได้พระธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ฝึก ปฏิบัติ ฝึกนิสัยที่ไม่ดีออกไป ดังที่ระบุว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนได้แล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด
การไปเติม เสริม พุทธศาสนา รูปแบบที่เหนือจากนั้นคือ สร้างขึ้นมาจากความคุ้นเคย สนุก กลายเป็นการรับบาป สำคัญกว่าการทำบุญ ทั้งที่บุญคือเพื่อนแท้ ซึ่งสังคมหรือ พวกเราต้องช่วยกันตักเตือน อย่าทำบุญแลกบาป แต่ต้องตั้งอยู่บนสติ โดยที่วัดชลประทานฯ นั้นเรามีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนงานบวช โดยเน้น หลักคือ 1.ระเบียบ 2.เรียบง่าย 3.ประหยัด 4.ทำแล้วเกิดประโยชน์ และ5.ถูกต้องตามธรรมวินัย และเป็นการบวชเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้ง อุบาสก อุบาสิกา เดินตามพระพุทธเจ้า ไม่มีกิจอื่น ในวัดไม่มีดนตรี ไม่มีการเวียนโบสถ์ แต่เดินตรงเข้าโบสถ์ ไปหาพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการสร้างความสุขใจ ปลื้มใจ และมีส่วนร่วมกัน ที่เรียกว่า บวชแบบไม่ต้องโกนหัว ให้กับคนอื่นด้วย
นี้คือแนวทาง ที่แตกต่างจากปัจจุบัน ที่เราเห็นกันในสังคม ซึ่งการบวชไม่ใช่การล้างผลาญทรัพย์ที่นำทรัพย์สิน สมบัติที่สะสมมาทั้งชีวิตมาละละลายทั้งหมดในไม่กี่นาที และไม่ใช่การบวชสะสมทุน หวังจะหากำไรจากคนที่มาร่วมงาน ได้เงิน ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้ ตัวเองเสียหายและยิ่งห่างจากศาสนา ขณะเดียวกันก็ ไม่ควร เอาการบวชมาย่ำยี ให้ตระกูลเสียหาย สังคมตกต่ำ ซึ่งจะต้องทำแล้วให้ทุกคนสบายใจ ไม่ใช่สร้าง ความเสียหาย สร้างบาป และสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การ ไม่ให้มีอบายมุข เหล้ายาเข้าไปในงานบวช จนเหมือนปัจจุบันที่กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน ในการแห่นาค จนไม่รู้ว่าไปสวรรค์หรือนรก
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า จากข้อมูลที่ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อการดื่มแอลกอฮอล์ในวัด โดยสำรวจประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,000 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ร้อยละ 73.4 เห็นด้วยว่าไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ เช่น งานบวช งานศพ เมื่อถามว่าเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีหรือไม่ กว่าร้อยละ 34.7 ระบุว่า เคยดื่มในงานบวช ร้อยละ 36.95 ระบุว่าเคยดื่มในงานทอดผ้าป่า กฐิน
สำหรับเหตุผลที่งานบุญประเพณีต้องมีเหล้า ร้อยละ 30.9 มองว่าเพราะความสนุกสนาน ร้อยละ 27.2 เป็นการ พบปะสังสรรค์ของคนในท้องถิ่น ร้อยละ 19.1 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และร้อยละ 13 เป็นการแสดงความมีหน้ามีตาในสังคม ที่น่าห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 20.4 ไม่ทราบว่าดื่มเหล้าในวัดผิดกฎหมาย
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.3 เห็นด้วยว่า งานบุญประเพณี งานบวช งานศพ ต้องปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 91.1 ทราบข่าวกรณีคนเมาในงานบวชอาละวาดที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ซึ่งร้อยละ 78.1 มองว่าการดื่มเหล้าเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงดังกล่าว
ซึ่งผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่าเราเน้นความสำราญกันจนเกินขอบเขตไปมาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง จัดระเบียบสร้างค่านิยมงานบวชงานบุญกันใหม่ ก่อนที่วัฒนธรรมประเพณีจะเสื่อมถอยไปมากกว่านี้ ความเชื่อผิดๆ ที่ว่างานบุญงานบวชต้องมีเหล้า ท้ายที่สุดนอกจากจะบาปแล้วยังกลายเป็นตราบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นในสังคม ไม่เฉพาะต่อคนที่ดื่มและไปก่อเรื่องเท่านั้น แม้แต่พระ หรือ เจ้าภาพจัดงาน ก็เดือดร้อนไปด้วย หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับทางศาสนาคงต้องจริงจังในเรื่องนี้ ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา มหาเถรสมาคม ในการเข้มงวดกับกฎกติกา แค่ขอความร่วมมือคงไม่พอ ต้องนำกฎหมายที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือป้องกันแก้ไขด้วย
จะอุปสมบท จะจัดงานใหญ่ จงใคร่ครวญให้ดีนะครับ หลีกเลี่ยงการเอาน้ำเมาเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่งั้น ก็จะเดือดร้อนทั้งครอบครัวเหมือนเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้