ถอดระบบพหุวัฒนธรรม ‘บาละ’

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเดลินิวส์


ถอดระบบพหุวัฒนธรรม 'บาละ' thaihealth


ถอดระบบพหุวัฒนธรรม 'ชุมชนบาละ อ.กาบัง จ.ยะลา' 


"บาละ" เป็นหนึ่งในตำบลของอำเภอกาบัง จ.ยะลา โดดเด่นด้วยภูมิลักษณะอันเป็นที่ราบเชิงเขาที่รายล้อมไปด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ จุดแข็งสำคัญอยู่ตรงความเป็นเมือง "พหุวัฒนธรรม" ซึ่งผสมผสานรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวไทยพุทธ มุสลิม และ ไทยพุทธเชื้อสายจีน ที่หลอมรวมกันแนบแน่น การอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ทั้งในแง่ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชาย แดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี  2551 ไม่เพียงแค่นี้ความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดขึ้นถูกนำไปต่อยอดพัฒนาการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ที่กำลังกลายเป็นต้นแบบเครือข่ายสุขภาวะชุมชน และแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง


"ทุกวันนี้ชาวพุทธกับมุสลิมอยู่กันแบบพี่น้อง เวลาชาวพุทธมีงานแต่ง ชาวมุสลิมก็ไปช่วยงาน เชือดวัว หุงข้าว เสิร์ฟอาหารทำทุกอย่างที่ทำได้" นายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ บอกเล่าการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่


ต้นแบบของท้องถิ่นน่าอยู่นั้น มาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่ "ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร" ที่ตำบลบาละถือว่าเป็นอีกต้นแบบที่มีชุมชน อื่นๆ มาเรียนรู้ดูงานเป็นจำนวนมาก


ลุงดำ-นายดำรง รามแก้ว ประธานศูนย์ฯ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของศูนย์ดังกล่าวว่า ในพื้นที่แต่ช่วงหนึ่งที่ราคายางตกต่ำจึงต้องหาอาชีพเสริมจนนำมาสู่การปลูกผัก มะนาว ผัก เหลียง ที่เอาไว้กินเองเหลือก็เอาไปขายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงก่อนจะเริ่มพัฒนาพื้นที่ประมาณ 3 ไร่จากที่ดินทั้งหมด 30 กว่าไร่ของตัวเองเป็นพื้นที่ทดลองทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้ง ทำปุ๋ย เลี้ยงปลา ปลูกพืชอื่นๆ สลับเข้ามา รวมถึงการพัฒนาเทคนิคการกรีดยางที่อาศัยองค์ความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น เทคนิคการลับมีดที่ไม่อาจ มองข้ามไปจนถึงรูปแบบการกรีด


ถอดระบบพหุวัฒนธรรม 'บาละ' thaihealth


"เป้าไม่ได้อยู่ที่จะมุ่งไปที่ความร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้ยากจนพอมีพอกิน บางวันกินเหลือก็เอาไปขายได้ มีรายได้  500-600 บาท แต่คนในพื้นที่ยังทำแบบนี้กันน้อยไม่กี่ครอบครัวส่วนหนึ่งเพราะเห็นผลช้า ปลูกยาก รายได้ไม่เยอะ" อีกจุดเด่นของความชุมชนเข้มแข็งคือ "สร้างเศรษฐกิจด้วยภูมิปัญญา" ที่นำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำไม้กวาดดอกหญ้า ซึ่ง นางกิ้มเลื่อน ณ เทพา ซึ่งทำไม้กวาดมาตั้งแต่สาว ๆ จนปัจจุบันอายุ 69 ปี ระบุว่า นี่เป็นภูมิปัญญา ท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานอกจากเรื่องใช้ทรัพยากรในพื้นที่แล้วไม้กวาดของตำบลบาละยังได้รับการยอมรับว่าทนทานเป็นพิเศษ จนกระทั่ง ปี 2539 ได้รับรางวัล 4 ดาว จากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาเป็นเครื่องการันตี


ไม่ต่างจากกลุ่ม "น้ำพริกศิลานารี" ที่ประสบความสำเร็จจากการนำวัตถุดิบในพื้นที่ มาใช้ถึงขั้นต่อยอดไปขายในออนไลน์ และขยับขยายนำรายได้ส่วนหนึ่งไปพัฒนาเลี้ยงไก่ไข่สร้างรายได้อีกด้านให้กับสมาชิก แต่ที่ต้องจับตาคือ "กลุ่มรับซื้อน้ำยางสดบ้านคชศิลา 2" ซึ่งเกิดจากคนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางแต่เห็นว่าการต้องขายผ่านคนกลางตัดตอนพ่อค้าคนกลาง โดยประกาศรับซื้อยางจากสมาชิกไปขายตรงด้วยตัวเอง


ถอดระบบพหุวัฒนธรรม 'บาละ' thaihealth


หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนตำบลบาละเข้มแข็งคือระบบการเงินและสวัสดิการชุมชน ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินทุนสร้างกลไกการเงินภายในชุมชน และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบได้เป็นอย่างดี


นายอนันต์ พลสิทธิ์ กล่าวว่า กลุ่มออมทรัพย์บ้านสี่สิบ เป็นหนึ่งในระบบการเงินของชุมชน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 โดยนำเงินฝากของชาวบ้านมาปล่อยกู้ให้สมาชิก โดยคิดค่าธรรมเนียมหรือส่วนต่างร้อยละ 12 ต่อปี  และนำกำไรที่ได้กลับมาคืน ให้สมาชิกและอีกส่วนแบ่งคืนให้กับสังคมในรูปแบบต่างๆ


ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ 570 คน 55% เป็นมุสลิม 45% เป็นพุทธ ปล่อยกู้ไปแล้ว 240 ราย วงเงิน 9 ล้านบาท แม้จะยังมีปัญหาเรื่องหนี้เสียที่ ยังติดตามไม่ได้อีกร่วม 7 แสนบาทที่จะเป็นบทเรียนนำไปปรับปรุง เพิ่มความรัดกุมในการปล่อยกู้ต่อไปว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จุดเด่นของทุกกิจกรรมในชุมชนตำบลบาละคือ การอยู่และประกอบอาชีพร่วมกันของไทยพุทธและมุสลิม อย่างราบรื่น ถือเป็นการ "เกื้อกูล" ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่ "แข่งขัน"


"สสส. ไม่ได้เข้ามาดำเนินการอะไรใหม่ เพียงแต่มากระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นและทีมนักพัฒนาตำบลบาละจัดระบบการจัดการพื้นที่และเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดพลังของชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น" น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code