ถอดรหัสโศกนาฏกรรมท้ายกระบะ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


ถอดรหัสโศกนาฏกรรมท้ายกระบะ thaihealth


สสส.จับมือภาคีเปิดเวที ถอดบทเรียนโศกนาฎกรรมท้ายกระบะ  นักวิชาการชี้ผลสำรวจคนไทยกว่าครึ่งรู้อันตราย แต่ไม่มีทางเลือก ผลศึกษาในสหรัฐฯ ยันนั่งท้ายกระบะเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่านั่งข้างใน-คาดเข็มขัด 8 เท่า เสนอรัฐเข้มนั่งท้ายกระบะ-ขับเร็ว-ดื่มแล้วขับ ไม่ต้องรอเทศกาล


วันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ "ถอดรหัสโศกนาฎกรรมท้ายกระบะ ทำอย่างไรไม่ซ้ำรอยเดิม" โดยนำกรณีศึกษาอุบัติเหตุกระบะเสียหลักพลิกค่ำ ทำให้นักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษเสียชีวิตรวม 17 ราย  


ถอดรหัสโศกนาฏกรรมท้ายกระบะ thaihealth


นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ สูงถึง 24,000 ราย/ปี ในจำนวนนี้ กว่า 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด และกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษ ถือเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรง เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เพราะเป็นการใช้รถผิดประเภท นำรถกระบะมาบรรทุกคน และเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก เนื่องจากใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่ที่น่าสนใจและยังไม่มีใครพูดถึง คือสถานที่จัดเลี้ยงก่อนเกิดเหตุนั้น จัดขึ้นในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานหรือไม่  เพราะนิยามของคำว่าโรงงานหมายถึงการมีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือมีแรงงาน 7 คนขึ้นไป จึงควรตรวจสอบตรงนี้ด้วย อย่างไรก็ตามโรงงานทุกแห่งต้องเคารพกฎหมาย ไม่ควรจัดงานเลี้ยงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความปลอดภัยไม่สูญเสียและไม่ผิดกฎหมาย    


ถอดรหัสโศกนาฏกรรมท้ายกระบะ thaihealth


นพ.ธนะพงษ์   จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีหลายแง่มุมที่ต้องเร่งจัดการเพื่อมิให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก คือ 1.ด้านสาเหตุอุบัติเหตุ จากข่าวที่ปรากฏชี้ให้เห็นพฤติกรรมเสี่ยง ตั้งแต่การดื่มแล้วขับ ขับเร็ว แซงกระชั้นชิด และการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก เพิ่มโอกาสในการพลิกคว่ำมากขึ้นด้วย 2.ด้านสาเหตุการเสียชีวิต เมื่อพลิกคว่ำแบบเทกระจาดด้วยความเร็วสูง ที่นั่งมาในท้ายกระบะก็จะพุ่งออกมาปะทะกับวัตถุบนถนน ทั้งพื้นถนน ขอบฟุตบาท เสาไฟ หรือแม้แต่กำแพงรั้ว ส่งผลต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต


นพ.ธนะพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ โดยสอบถามผู้ที่นั่งท้ายกระบะจำนวน 200 คน ในเขตกทม.และปริมณฑล ถึงความเสี่ยงในการนั่งท้ายกระบะ พบว่า 50% หรือครึ่งหนึ่ง รู้ว่าอันตรายแต่ไม่มีทางเลือก ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 หรือ 30% เห็นว่า ไม่เสี่ยงและไม่ได้อันตรายมากกว่าการนั่งในตำแหน่งอื่น  นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ยังได้จำลองให้เห็นโอกาสพลิกคว่ำ โดยเปรียบเทียบรถกระบะที่ไม่บรรทุกคน น้ำหนัก 1.5 ตัน จะมีความเสี่ยงในการพลิกคว่ำ 12%  แต่ถ้าบรรทุกคน 10 คน หนักคนละ 60 กก. เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ 28% หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า และถ้าคนในท้ายกระบะยืนขึ้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำขึ้นไปอีก 4 เท่า เมื่อเทียบกับไม่มีการบรรทุกคน นอกจากนี้ผลการศึกษาในสหรัฐฯ ยืนยันความเสี่ยงที่ผู้โดยสารนั่งกระบะหลังจะเสียชีวิตมีมากกว่าผู้โดยสารตอนหน้าที่คาดเข็มขัดนิรภัย ถึง 8 เท่า  กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด พบว่ามีความเสี่ยง ได้แก่ ดื่ม/เมาขับ ขับเร็ว คึกคะนอง และบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก


"ทางออกแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ รณรงค์ห้ามนั่งท้ายกระบะกำหนดให้โฆษณารถกระบะ ต้องระบุความเสี่ยงของการนั่งท้ายกระบะ และการนั่งใน space cab ติดตั้งโครงยึดเกาะในกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ เข้มงวดให้บรรทุกไม่เกิน 6 คนและขับไม่เร็วเกิน 80 กม./ชม. หน่วยงานองค์กร โรงงานต่างๆต้องมีมาตรการ กำกับดูแลไม่ให้มีการนั่งท้ายกระบะ หรือถ้าจำเป็นควรมีเงื่อนไขด้านความปลอดภัย เช่น มีโครงยึดเกาะ ใช้ความเร็วตามกำหนด รถมีการตรวจสภาพพร้อมใช้ มีประกันภัย ฯลฯ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมีข้อกำหนดให้ทุกครั้งที่มีงานรื่นเริงและมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งานรื่นเริงต้องตั้งจุดตรวจป้องปรามเมื่อมีการบรรทุกท้ายกระบะเกิน 6 คน ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ และหากเกิดอุบัติเหตุควรมีการเจาะเลือดตรวจวัดภายใน 1-2 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีรถกระบะล่าสุด พบแอลกอฮอล์ของคนขับ 38mg% แต่เป็นผลตรวจหลังเกิดเหตุ 5 ชั่วโมง ซึ่งถ้าตรวจเร็วผลเลือดอาจมากกว่านี้ เพราะทุกชั่วโมงแอลกอฮอล์จะลดลง 10-15 mg% อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมตำรวจที่ดำเนินการแจ้งข้อหาดื่มแล้วขับกับผู้ขับขี่รายนี้ที่ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 mg% จึงถือว่าขับรถในขณะเมาสุรา นพ.ธนะพงษ์  กล่าว


ถอดรหัสโศกนาฏกรรมท้ายกระบะ thaihealth


ขณะที่ นางสาวลัดดา เฉยยั่งยืน ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั่งท้ายกระบะ กล่าวว่า ตนสูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์รถเก๋งเสียหลักชนท้ายกระบะก่อนพุ่งชนรถแบคโฮ เหตุเกิดที่ไทรน้อย ถนนสาย 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) เมื่อวันที่ 6 เม.ย.62 ขณะนี้ยังทำใจยอมรับความสูญเสียไม่ได้ ถ้าวันนั้นพี่ชายไม่นั่งท้ายกระบะ คงไม่เสียชีวิต แค่เสี้ยววินาทีที่เขาจะต้องเดินทางไปทำงาน เขาขอนั่งท้ายกระบะ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงกระเด็นออกจากตัวรถเสียชีวิต ส่วนความคืบหน้าของคดียังไม่สิ้นสุด ต้องรอสอบว่าใครถูกผิด และงานที่พี่ชายทำเป็นงานรับเหมา ไม่ได้มีสวัสดิการอะไร จึงยากที่จะได้รับการเยียวยาจากนายจ้าง ส่วนคนขับกระบะมีเพียงไปร่วมงานเผาศพ และคู่กรณีก็ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย


"อยากให้กรณี 17 ศพ และกรณีของพี่ชาย เป็นบทเรียนกับทุกชีวิต การนั่งท้ายกระบะเสี่ยงอันตรายมาก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดมักนั่งท้ายกระบะ ยิ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ กฎหมายช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง แต่การมีจิตสำนึก จะลดอุบัติเหตุความสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้น อยากให้ทุกคนช่วยกันเตือนช่วยกันห้ามเวลาเจอคนนั่งท้ายกระบะ" นางสาวลัดดา กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ