ถอดบทเรียน 26 สงฆ์นักพัฒนา เสริมเครือข่ายสังฆะเพื่อรับใช้สังคม
คณะทำงานโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของเครือข่ายพระสงฆ์และสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงเปิดเวทีรับฟังการคืนข้อมูลและเติมเต็มเนื้อหาความรู้ เพื่อถอดองค์ความรู้พระสงฆ์นักพัฒนาร่วมสมัย
เมื่อวันที่ 19-21 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี คณะทำงานโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของเครือข่ายพระสงฆ์และสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลง ร่วมเครือข่ายพุทธชยันตี สังฆะเพื่อสังคมร่วมกับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานปฎิรูป (สปร.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้นิมนต์พระสงฆ์ต้นแบบพัฒนาสังคมร่วมสมัยจำนวน 26 รูป เข้าร่วมเวทีรับฟังการคืนข้อมูลและเติมเต็มเนื้อหาความรู้ เพื่อถอดองค์ความรู้พระสงฆ์นักพัฒนาร่วมสมัย
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์กรความรู้ดังกล่าวมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์และกระบวนการทำงานของเครือข่ายพระสงฆ์ทั้ง 4 ภูมิภาค และใช้เป็นกลไกในการขยายฐานพระสงฆ์นักพัฒนารุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผ่านยกระดับองค์ความรู้เชิงปัจเจกให้เป็นองค์ความรู้ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดัน สร้างการเปลี่ยนแปลงและหนุนเสริมเครือข่ายพระสงฆ์ ทั้งระดับนโยบาย เชิงพื้นที่/ภูมิภาคและประเทศ
เวทีนี้ได้เกียรติจาก ดร.วณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูปปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป กล่าวเปิดเวที โดยมี อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นกระบวนกรนำกระบวนการครั้งนี้ ซึ่งมีกิจกรรมหลักประกอบด้วย
1) ทำเจตจำนงและบริบทให้กระจ่างชัด (clarify intention and clarify context) ครุ่นคิดและทบทวนการทำงาน ทบทวนความคิดและการกระทำของ ตนเอง อีกทั้งบทบาทของพระสงฆ์ ในการปฏิรูปสังคมไทย หลังจากนั้นเขียน“เส้นแห่งเวลา” (time line) เพื่อจะได้เห็นอีกทั้งตระหนักถึงประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายร่วมกัน โดยการครุ่นคิดร่วมกันในกลุ่มใหญ่ พยายามให้เห็นการคิด 4 ระดับของภูเขาน้ำแข็ง
2) นำเสนอผลการดำเนินงานการถอดองค์ความรู้ 26 สงฆ์ต้นแบบนักพัฒนาจากทั่วประเทศ โดยพระอมรมิตร คมฺภีรธมฺโม หัวหน้าโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของเครือข่ายพระสงฆ์ฯ ผ่านตัวแทน 4 รูป คือ
– ผู้นำนวัตกรรมใหม่ สอนธรรมผ่านสื่อร่วมสมัย ทำวัตรเย็นเดลิเวอรี่ : พระอธิการสมชาติ ฐิติปญฺโญ วัดหนองบัว ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย
– ตุ๊ลุงพัฒนาเยาวชน-เรียนรู้ธรรมพัฒนางานต่อยอดวัฒนธรรมและฟื้นฟูประเพณีปลอดเหล้า : พระครูสมุห์วิเชียร คุณธมฺโม วัดเจดีย์แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
– สุดยอดนักจัดสวัสดิการสังคม : พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส ขนฺติธมฺโม) วัดโพธิ์ทอง ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี
– พระผู้พลิกฟื้นผืนป่าเพื่อชาวประชาแก่งหางแมว กว่า 1,000 ไร่ : พระครูประโชติธรรมาภิรมย์ (หลวงพ่อสาย) วัดวังศิลาธรรมาราม ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง
3) สภาวะปัจจุบันกับความท้าทายสถาบันสงฆ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และทำความเข้าใจในทฤษฎีสั้นว่าด้วย เรียน (to learn) รู้ (to know) ความรู้ (knowledge) ความเข้าใจ (understanding) การมีชีวิตอยู่กับคำถามและพลังแห่งปฏิบัติการ พร้อมกับการทบทวนประสบการณ์ กระบวนการคิดและกระบวนการทำ ต่อด้วยการครุ่นคำนึงในกลุ่มใหญ่ เพื่อยกระดับ “สมรรถภาพของการมีประสบการณ์”
4) ทำความเข้าใจทฤษฎีสั้น จังหวะเครื่องจักร จังหวะชีวิต จังหวะหัวใจกับจังหวะแผ่นดิน พุทธลีลาและปัญญาปฏิบัติ (phronesis knowledge) ครุ่นคิดต่อกระบวนทัศน์ 2 แบบ เกี่ยวข้องกับการจัดการตนเอง (self organizing) และภาวะและการเป็นผู้นำการสนทนาที่มีพลัง (conversational leadership) ล้อมวงสนทนาและตั้งคำถามจากหลากหลายมุมมองเพื่อให้เห็นภาพของบทบาทพระสงฆ์
5) แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจต่อการรับมือในการก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างไรที่ทันกับสถานการณ์โลก ปิดท้ายด้วย ข้อคิด และคำถาม เพื่อให้เกิด เจตจำนงในการพัฒนาสถาบันพระสงฆ์ไทยในปี 2560
ภายหลังจบเวที ได้มีการสรุปผลการจัดเวทีใน 3 ประเด็น ดังนี้
สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่และต่อยอดความรู้
-เข้าถึงเส้นด้ายของการเชื่อมโยงให้มารวมกันในเวทีนี้(ความเป็นพุทธบริษัท(พุทธะ)/ภารกิจต่อพระศาสนา/ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม)
-ได้พึ่งพาและสานความเป็นเครือข่ายในงานขยับงานตนเองในอนาคต
-ความรู้แปลกใหม่จากวิทยากร เช่น world paradox, network leadership
-การยุทธศาสตร์การทำงานที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายเดียวกัน
-ประจักษ์ในปัญหาของแต่ละคน แต่ละงาน แต่ละกลุ่ม เพื่อกำหนดจุดปรับปรุงแก้ไข
ข้อจำกัดในกระบวนการ
-ความไม่สามารถในการตอบโจทย์หรือความต้องการของคนในกระบวนการได้ครอบคลุมทั้งหมด
-ทิศทางการหนุนเสริมงานของเครือข่ายโดยภาพรวมยังไม่ชัดเจน
-ปัญหาที่ต้องอาศัยภาคีและเครือข่ายในการช่วยปลดล๊อค ยังไม่ได้ถูกนำเสนอ
-ขาดพระรุ่น 2 ที่มาเรียนรู้กลุ่มพระนักพัฒนาระดับแนวหน้าหรือชั้นต้น
ข้อเสนอแนะเพื่อก้าวต่อไป
-ควรมีการกำหนดจุดเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานของแต่ละที่ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ออมทรัพย์ สิ่งแวดล้อม สมุนไพร สวัสดิการสังคม บุญประเพณีปลอดเหล้า
-ควรมีเวทีทำยุทธศาสตร์การเคลื่อนงานต่อให้ชัดเจน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
-ควรกำหนดให้มีช่วงของการร่วมขจัดข้อติดขัดหรือเติมเต็มของพระนักพัฒนาให้มากขึ้น
-ควรนิมนต์พระรุ่น 2 (ในระบบการศึกษา)หรืออื่นๆ มาเพื่อแลกเปลี่ยน
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยนายประญัติ เกรัมย์