“ถนนพระราม 2” โมเดลเส้นกันชนท้ายรถ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
เชิญชวนหน่วยงานถนน ใช้โมเดลถนนพระราม 2 ลดปัญหาชนท้าย ล่าสุดแขวงการทางสมุทรสงครามตีเส้นสองแถบบนถนนระยะทาง 5 กม. หลังปีใหม่ที่ผ่านมาพบปัญหาชนท้ายอื้อ
รศ.ดร.อำพล การุณสุนทวงษ์ ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวหลังการประชุมสัมมนา “มาตรการด้านวิศวกรรมกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุชนท้ายบนทางหลวง” ว่า ที่ผ่านมาได้ทำโครงการศึกษาการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุด้วยการตีเส้นเป็น 2 แถบขวางบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 หรือ ธนบุรี-ปากท่อ เว้นระยะห่าง 50 เมตร เป็นสัญลักษณ์หากขับเห็นเส้นแสดงการเว้นระยะห่างจากคันหน้าในระยะที่ปลอดภัย ถ้าไม่เห็นแสดงว่าใช้ความเร็วเกินซึ่งจะมีป้ายแจ้งเตือนเป็นระยะ พร้อมเก็บข้อมูลตลอดทั้งปี 61 พบว่า ปัญหาชนท้ายลดเหลือเพียง 3 ครั้ง จากเดิมในปีก่อนหน้านั้นคือ 60 พบปัญหาชนท้ายเกิดขึ้นเป็น 10 ครั้ง
สำหรับสาเหตุของการชนท้าย มาจากการขับระยะกระชั้นชิดใช้ความเร็วสูงเมื่อมีอุบัติเหตุแตะเบรคแล้วรถหยุดไม่ทัน ขณะเดียวบางคนไม่รู้ว่าระยะห่างที่ปลอดภัยคือ50เมตรห่างจากคันหน้า ซึ่งในต่างประเทศบังคับให้ติดสติกเกอร์สะท้อนแสงที่ท้ายรถถ้าขับแล้วเห็นสติกเกอร์แสดงว่าอยู่ในระยะกระชั้นชิดมีความเสี่ยงหรือในรถยนต์รุ่นใหม่จะมีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เตือน
รศ.ดร.อำพล กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาชนท้ายโดยหลักวิศวกรรมจราจรแล้วได้ผลทำให้เกิดการขยายผล ล่าสุดแขวงการทางสมุทรสงครามได้นำหลักการแก้ปัญหาชนท้ายดังกล่าวไปใช้แล้วโดยตีเส้นในระยะทาง 5 กม.ต่อจากพื้นที่นำร่องในจ.สมุทรสาคร เนื่องจากเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามีปัญหาชนท้ายจำนวนมากซึ่งในงานเสวนาดังกล่าวได้เชิญหน่วยงานที่มีบทบาทในการก่อสร้างถนน ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล อบต.เข้ามารับทราบข้อมูลว่าสามารถใช้โมดล (ต้นแบบ) นี้ไปขยายผลแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการชนท้ายได้
นอกจากนี้ได้ทำแบบสอบถามผู้ใช้ทาง 500 คน ส่วนใหญ่เข้าใจหลักวิศวกรรมและมีส่วนน้อยบอกว่าเส้นแถบขวางเกะกะสายตาระหว่างขับรถ จึงมีข้อเสนอแนะว่าการสอบใบขับขี่ควรให้ความรู้ที่เข้มข้นด้วยว่าระยะห่างที่ปลอดภัย 50 เมตร แก้ปัญหาอุบัติเหตุชนท้าย ซึ่งบางคนมีพฤติกรรมขับรถจี้ในระยะกระชั้นชิด เพราะจากการตอบแบบสอบถามบางคนไม่ทราบว่าระยะ 50 เมตรคือแค่ไหน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ขับขี่หรือเคยเกิดอุบัติเหตุชนท้ายมาแล้วจะทราบและระมัดระวังยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ทล. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สอจร. และ มจธ. ดำเนินโครงการวิจัย “การศึกษาการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากการชนท้ายกรณีศึกษาบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ที่มีปริมาณการจราจรสูงวันละหลายแสนคัน ความเร็วรถเฉลี่ย 90-120 กม.ต่อชม. มีจำนวนอุบัติเหตุรอบ 5 ปี ย้อนหลังโดยเฉพาะเหตุชนท้าย สูง 50-60% ใช้งบประมาณ 5 แสนบาท ด้วยหลักวิศวกรรมจราจรเพื่อแก้ปัญหาชนท้ายรวม 5 กม. ระหว่างตลาดมหาชัยเมืองใหม่กับอ.เมืองมหาชัย จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ปีปลายปี 60 ใช้สัญลักษณ์ เครื่องหมาย “2แถบ” หรือ Transverse Bar หรือแถบขวาง