ต้านภัยเอ็กซโปบุหรี่ล่า 5 หมื่นชื่อ ยื่นนายกฯ
ชี้รัฐแสดงจุดยืน ตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบ
เครือข่ายต้านภัยเอ็กซโปบุหรี่ล่าเกือบ 5 หมื่นรายชื่อ ยื่นนายกฯค้านงานเอ็กซโปบุหรี่ ให้รัฐบาลแสดงจุดยืน พร้อมปฏิบัติตาม ม. 5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวกับบริษัทบุหรี่
ที่ ห้องกมลทิพย์1 โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ เครือข่ายต้านภัยเอ็กซโปบุหรี่ (Thai Network Against Tabinfo Asia 2009) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในด้านสุขภาพกว่า 476 องค์กร จัดงานแถลงข่าวต้านเอ็กซโปบุหรี่ TABINFO ASIA 2009 โดย น.ส.ภัทธิดา คงสมบูรณ์โชค นักเรียนชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยาพุทธมณฑลเป็นตัวแทนเยาวชนแถลงข้อเรียกร้อง และมอบรายชื่อคัดค้านการจัดเอกซ์โปบุหรี่จำนวน 43,944 คน ต่อนายอิสรา สุนทรวัฒน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกรัฐมนตรี
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานเครือข่ายต้านภัยเอ็กซโปบุหรี่ กล่าวว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้รุกคืบมาขยายตลาดในภาคพื้นเอเชีย และโปรโมทสินค้ายาสูบรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ บุหรี่ชูรส บุหรี่ไร้ควันรูปแบบต่าง ๆ และใช้เวทีเอ็กซโปบุหรี่เพื่อท้าทายอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก จึงมีความเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันต่อต้านความอหังการ์ของ “พ่อค้าแห่งความตาย” เหล่านี้
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเป็นเครือข่ายที่สร้างเภสัชกรที่มีความรู้คู่คุณธรรม ร่วมคัดค้านการจัดงาน TABINFO ASIA 2009 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะขายบุหรี่ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนป่วยและตายมากขึ้น โดยผู้จัดการประชุมระบุสาเหตุที่เลือกมาจัดงานที่ประเทศไทยว่า เอเชียเป็นตลาดบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดและโตเร็วที่สุดในโลก จึงมีการระดมรายชื่อผ่านหน่วยงานในความรับผิดชอบของคณะเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการสร้างจิตสาธารณะแก่นิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ที่จะได้ร่วมกันทำงานตรงตามเจตนารมณ์ “ความรู้คู่คุณธรรม”
ด้าน ศ.พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ 17 องค์กร กล่าวว่า ที่ประชุมเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพได้แสดงความจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดงาน TABINFO ASIA 2009 โดยได้ร่วมระดมรายชื่อผู้คัดค้านการจัดงานจากเครือข่ายวิชาชีพ จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะทุกวันนี้คนป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ก็ล้นมือสถานบริการอยู่แล้ว การที่บริษัทบุหรี่มาจัดงานระดมสมองเพื่อขายบุหรี่ให้เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้
ในขณะที่ คุณการุญ ตระกูลเผด็จไกร นายกสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย อดีตลูกค้าผู้ภักดีที่กลายเป็นเหยื่อจากความโลภของธุรกิจบุหรี่ ร่วมคัดค้านในนามของผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่และสมาชิกสมาคมฯกว่า 2,400 คนที่ต้องสูญเสียการพูดไปตลอดชีวิต อยากถามว่าผู้บริหารบริษัทบุหรี่ว่า เป็นคนพันธุ์ไหนกันแน่ และขอเรียกร้องคนไทยที่สูบบุหรี่ทุกคน ทำสิ่งที่บริษัทบุหรี่กลัวที่สุดด้วยการเลิกสูบ
นายฉัตรชัย ชาญวิบูลย์ศรี เลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) กล่าวว่า สนภท.ได้ร่วมกันระดมรายชื่อคัดค้านการจัดงานของอุตสาหกรรมบุหรี่ ซึ่งเรามั่นใจว่าเสียงทุกเสียงทุกพลังจะทำให้เยาวชนตื่นตัวในกลยุทธ์กับการตลาดของบริษัทบุหรี่ และบอยคอตบริษัทบุหรี่ รวมทั้งจะไม่สูบบุหรี่
นางสาวภัทธิดา คงสมบูรณ์โชค นักเรียนชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยาพุทธมณฑล กล่าวว่า การจัดงานเอ็กซโปบริษัทบุหรี่ เป้าหมายที่แท้จริงคือเยาวชนและเป็นงานที่อุตสาหกรรมบุหรี่ใช้ประเทศไทย เป็นที่วางแผนทำร้ายเยาวชนทั้งในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลก เราจึงพยายามช่วยกันรณรงค์ในกลุ่มเพื่อนเยาวชนด้วยกัน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมบุหรี่
ด้าน นพ.สมชายโชติ ปิยะวัชร์เวลา เลขาธิการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะเฝ้าระวังการบริจาคของธุรกิจบุหรี่แก่หน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการคุ้มครองนโยบายสาธารณะจากอิทธิพลของธุรกิจยาสูบ ที่ไม่ให้หน่วยงานรัฐยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมใด ๆ หรือรับบริจาคจากธุรกิจยาสูบ เนื่องจากการบริจาคใด ๆ ของบริษัทบุหรี่ก็เพื่อลดทอนกระแสการควบคุมยาสูบ เพื่อจะขายบุหรี่ให้ได้มากขึ้น และชมรมแพทย์ชนบท จะติดตามข้อเรียกร้องที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบในการดำเนินการตามมาตรา 5.3
ภาคีเครือข่ายที่ร่วมต้านภัยเอ็กซโปบุหรี่มีจำนวนรวม 476 องค์กร ซึ่งรวมถึงเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, เครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย, คณะเภสัชศาสตร์ 13 สถาบัน, คณะพยาบาลศาสตร์ 15 สถาบัน, คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 8 สถาบัน, สถาบันการศึกษาสาธารณสุข 17 สถาบัน, คณะแพทยศาสตร์ 17 สถาบัน, ชมรมแพทย์ชนบท, เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เป็นต้น.
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
Update : 04-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่