ต้นแบบ ‘3 ด่าน ประสานใจ’ ลดอุบัติเหตุทางถนน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟนเพจ ข่าว วันนี้ที่สุรินทร์
อำเภอศรีณรงค์ ต้นแบบ '3 ด่าน ประสานใจ' ลดอุบัติเหตุทางถนน
วันนี้ จ.สุรินทร์กำลังเปลี่ยนไป หลังจากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในจังหวัดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านอุบัติเหตุ ไม่ว่าตำรวจ โรงพยาบาล สถานศึกษา หรือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภาคีภาคประชาชนขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนขึ้นจนตกผลึกเป็นโครงการ "3 ด่านประสานใจ" จนทำให้ "อ.ศรีณรงค์" เป็นต้นแบบลดอุบัติเหตุทางถนนได้สำเร็จ
อ.ศรีณรงค์ มีสถิติอุบัติเหตุสูงเป็นลำดับต้นของจังหวัดเนื่องจากมีจุดเสี่ยงหลายแห่ง พฤติกรรมดื่มสุราในทุกเทศกาลงานบุญและงานศพ รวมไปถึงพฤติกรรมดื่มแล้วขับตระเวนในกลุ่มวัยรุ่น สิ่งที่โครงการ 3 ด่านประสานใจ เข้ามาเปลี่ยนแปลงคือ กระบวนการจัดการในระดับชุมชน โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ เป็นผู้ประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาทั้งการเติมเต็มองค์ความรู้ เช่น การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อจัดการจุดเสี่ยง รณรงค์ให้ตระหนักถึงความสูญเสียจากการดื่มแล้วขับ รวมไปถึงการตั้ง'ด่านครอบครัว' และ 'ด่านชุมชน' ขึ้น เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายดูแลภารกิจลดอุบัติเหตุทางถนน อย่างไรก็ตามหากสองด่านยังไม่สามารถรับมือได้ ก็ยังมีด่านสุดท้ายรออยู่ คือ 'ด่านตำรวจ'ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากปีก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ส่วนก้าวต่อไปที่ จ.สุรินทร์ จะทำต่อคือ การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงเทศกาลจะต้องเกิดเหตุไม่มากไปกว่าช่วงปกติ
ด้าน นายสรชาย ครองยุทธ นายอำเภอศรีณรงค์ บอกว่า การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เริ่มทำมาตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ความต่อเนื่องทำให้ทั้งส่วนราชการและท้องถิ่นตอบรับเป็นวาระและนำไปปลูกฝังต่อ ซึ่งชุมชนเองก็ได้รับรู้ถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา ความเข้าใจร่วมกันทำให้ 3 ด่านประสานใจของอำเภอประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบให้ทาง จ.สุรินทร์นำไปต่อยอดในอีกหลายอำเภอ
ขณะที่ นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. เพิ่มเติมว่า สสส.ได้เข้าไปสนับสนุนทุกอำเภอใน จ.สุรินทร์ ให้ตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ โดยมีศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนด้านองค์ความรู้ หรือการหาเครื่องมือมาช่วยในการวิเคราะห์และทำงาน นอกจากนี้ยังมีพี่เลี้ยงสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรหรือที่เรียกสั้นๆว่า สอจร. ในทุกจังหวัด เป็นผู้นำองค์ความรู้มาเผยแพร่สื่อสารต่อให้เกิดการปฏิบัติในพื้นที่ แต่การทำเครื่องมือต้องใช้การทดลองจากพื้นที่ที่มีบริบทหลากหลาย เป็นสิ่งที่ สสส.พยายามสนับสนุนการทำงานของภาคนโยบายลงสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
"การแก้ปัญหาที่พฤติกรรมคนทำได้ยากที่สุด ส่วนใหญ่คนพูดถึงการรณรงค์ว่าควรทำให้มากๆ แต่ความจริงแล้วการรณรงค์ช่วยได้ในลักษณะที่ทำให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาเท่านั้น ไม่สามารถลงไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากการทำงานในบริบทพื้นที่ ต้องศึกษาพฤติกรรมคนจริงๆ ซึ่ง อ.ศรีณรงค์ พัฒนาด้วยด่านครอบครัวและด่านชุมชนที่เป็นการสกัดไปที่พฤติกรรมของคนซึ่งนำไปสู่การลดอุบัติเหตุได้จริง" นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ถึงวันนี้ความเปลี่ยนแปลงใน อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ได้ทำให้เห็นว่า พฤติกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยยึดถือกันมานานเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ ยิ่งหากใครไปเยือนสุรินทร์ ในตอนนี้คงต้องพูดกันใหม่ว่า "ไปสุรินทร์ ไม่ต้องกินสุราก็ได้"