ต่อยอด 46 ร.ร.ประถมดีเด่นสร้างสุขครบวงจร

          สสค. จับมือ สสส. ต่อยอด 46 โรงเรียนประถมดีเด่น หวังสร้างสุขภาวะที่ดีครบวงจร


/data/content/24484/cms/e_bdjnrsxyz569.jpg


          สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเตรียมความพร้อมลงนามข้อตกลงปฐมนิเทศน์โครงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการต่อยอดโรงเรียนในระดับประถมศึกษาดีเด่นจำนวน 46 โรงเรียนจากโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 1/2554 โดยเพิ่มประเด็นการสร้างสุขภาวะเป็นอีกหนึ่งในประเด็นการเรียนรู้ เพื่อปลูกฝังให้เด็กเยาวชน ครูและบุคลากรในโรงเรียนมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน


          “นพ.สุภกร บัวสาย” ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า ตามที่ศูนย์สถิติเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (the National Center for Education Statistics) ได้ระบุถึงอัตราการจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของสหรัฐอเมริกาในปี 2555 ว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 81 ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ และเชื่อมั่นว่าในปี 2563 จะมีเด็กที่จบสูงถึงร้อยละ 90 ขณะที่ประเทศไทยอัตราการจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ร้อยละ 60


          สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการจบการศึกษาของสหรัฐเพิ่มขึ้นนั้นพบว่า สหรัฐไม่ปล่อยให้โรงเรียนที่ไร้คุณภาพเปิดสอนต่อไป โดยมีโรงเรียนจำนวน 648 แห่ง ซึ่งถูกเปรียบกับโรงงานผลิตเด็กที่เรียนไม่จบต้องปิดตัวลงในระหว่างปี2544-2555 เพราะเชื่อว่า หากปล่อยให้โรงงานผลิตเด็กที่เรียนไม่จบไว้จำนวนมาก ก็เหมือนเก็บปัญหาไว้ที่ประเทศเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อนักเรียนเข้ามาเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพก็อยากเรียนต่อไปจนจบ


          “บทเรียนจากเวทีอภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศที่เห็นได้ชัดคือ การจัดการศึกษาที่ดีนั้นต้องจัดให้สอดคล้องตามความต้องการของโรงเรียนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งจากบทเรียนของประเทศที่พัฒนาด้านการศึกษาล้วนชี้ตรงกันว่า หากจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ห้องเรียนทั้งสิ้น โดยมีหัวใจสำคัญ 2เรื่อง 1) ทำอย่างไรให้ครูมีคุณภาพสูงขึ้น และ 2) ครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไรในห้องเรียน สะท้อนให้เห็นว่า ลำพังครูทำงานคนเดียวไปไม่รอด หากไม่มีการสนับสนุนจากทั้งในระบบ และนอกระบบ ที่ต้องมีองค์กรเข้ามาช่วยเหลือต่อยอดร่วมด้วย เช่น สสส.ให้โอกาสในการขยายต้นแบบโรงเรียนและนวัตกรรมที่ดีๆต่อไป”


          “เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า โรงเรียนจะเป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะสร้างเสริมสุขภาพที่มุ่งตรงสู่ผู้รับ ซึ่งก็คือผู้ร่วมเรียนรู้เป็นสำคัญ และการศึกษาแม้ไม่ใช่การพูดถึงเรื่องการสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย แต่หมายถึงการสร้างสุขภาวะที่ฝังลึกทางปัญญา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สร้างให้เกิดสุขภาวะที่ยั่งยืน ซึ่งการต่อยอดครั้งนี้หวังว่าแต่ละโรงเรียนจะสามารถยกระดับการทำงานแต่ละพื้นที่ในชุมชน ในลักษณะเป็นศูนย์เรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ร่วมกับพ่อแม่ ชุมชนรอบข้างได้อย่างยั่งยืน


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code