‘ตูน บอดี้สแลม’ ทำให้เห็นแล้ว
ที่มา : โพสต์ ทูเดย์
ภาพประกอบจาก คุณเอก ร้อยลี้ Photosunday.com และอินเทอร์เน็ต
การวิ่ง 2,215.40 กิโลเมตร ในโครงการก้าวคนละก้าว ของตูน บอดี้สแลม ยังประทับใจของประชาชนชาวไทยด้วยความสุข ใจของคนไทยตั้งอยู่ในหลักธรรมะข้อมุทิตา ในพรหมวิหาร 4 อย่างพร้อมเพรียง จึงมีอารมณ์ความสุขกันทั่วหน้า
การที่ยกเรื่องตูนมาพูดถึง ก็เพื่อให้เข้ากับวันที่คนไทยเรียกหาความสุขในวันสิ้นปีเก่าที่คนทั่วโลกฉลองการรับศักราชใหม่ โดยหวังว่าชีวิตในศักราชใหม่จะดีขึ้นกว่าศักราชที่ผ่านไป ที่เจ็บ และจนก็ขอให้หมดไป ขอให้ความสุขสบาย หายจนเข้ามาแทน จะสุขได้อย่างไร ตูน บอดี้สแลม ทำให้ดูแล้ว
แท้จริงแล้ว การกำหนดให้เป็นวันปีเก่าและปีใหม่ ตามวันเวลาที่ปรากฏในปฏิทิน ว่า วันที่ 31 ธ.ค. คือวันสิ้นปี ในเวลา 24.00 น. จากนั้นให้นับวันใหม่ของปีใหม่ หรือวันที่ 1 ม.ค.เป็นการนับปีปฏิทินที่นิยมทั่วโลก เพราะมีความสะดวกในการกำหนด นัดหมาย จะได้ตรงกัน
ส่วนทางพระพุทธศาสนา นอกจากนับข้างขึ้นข้างแรมที่เรียกว่าจันทรคติแล้ว ยังให้ความหมายของเวลาว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา แปลว่า กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง ขยายความว่า วันเวลาจัดอยู่ใน 3 วาระ ได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต จากกลางวันเป็นกลางคืน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครมาหยุดยั้งได้ กาลเวลาจึงกัดกินตัวเอง ส่วนคำว่าพร้อมทั้งสรรพสัตว์นั้นหมายถึงสัตวโลก รวมทั้งมนุษย์ เมื่อเพิ่มศักราชใหม่ ก็เพิ่มอายุขัยให้แก่สิ่งมีชีวิต ซึ่งชีวิตก็หมุนไปๆ จนสุดท้ายก็หยุดหมุน คือจบชีวิต แต่จบเมื่อไร สิ้นสุดเมื่อไร ไม่มีใครรู้ ท่านจึงว่ารู้วันเกิด แต่ไม่รู้วันตาย ดังนั้นขณะที่ยังมีชีวิต อย่าประมาท ต้องทำวันเวลาให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยก็ทำบุญ ทำกุศล อย่านั่งหายใจทิ้ง เพราะชีวิตจะหมดความหมาย กลายเป็นโมฆบุรุษ
ส่วนเรื่องที่นิยมกันในช่วงสิ้นปี ต้อนรับปีใหม่ คือส่งบัตรอวยพร แต่ปัจจุบันการส่งบัตรเกือบหายไปแล้ว เพราะส่งคำอวยพรกันทางไลน์แล้ว
อันการส่งบัตรอวยพรที่นิยมก่อนไลน์จะแย่งพื้นที่นั้น ชาวตะวันตกทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว และไทยเริ่มส่งบัตรอวยพรกันหนแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่ง เอนก นาวิกมูล เล่าว่า รัชกาลที่ 4 ทรงส่งบัตรอวยพรปีใหม่ให้บรรดาทูตและกงสุลต่างๆ เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ Bangkok Recorder ของหมอบรัดเลย์ มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น คำว่า ส.ค.ส.ได้เกิดขึ้นในสมัยนี้ จึงเห็นบัตร ส.ค.ส.ในสมัยรัชกาลที่ 5 เก็บรักษาไว้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
อย่างไรก็ตาม การส่งบัตร ส.ค.ส.คือการส่งความสุขให้กันและกัน และความสุขนั้นเป็นมงคลอย่างหนึ่ง ที่หลายคนอยากให้เกิด ให้มีในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนจะมีวิธีการอย่างไรให้เกิดมงคล และความเจริญแก่ชีวิต บางคนหรือส่วนมากพึ่งโหราศาสตร์ เพื่อตรวจดวงของตน ว่าต้องทำอะไรดวงจึงจะเฮงๆๆ สถาบันศาสนา เช่น วัด ก็ปรารถนาให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข หรือได้รับมงคลมากๆ เพื่อชีวิตจะเฮง จึงเห็นประกาศจากวัดต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เชิญชวนให้สวดมนต์ข้ามปีที่วัด ใครใกล้วัดไหนให้ไปวัดนั้น
กิจกรรมในวัดเพื่อการทำบุญเพื่อความเป็นมงคล เริ่มแต่เวลา 21.00 น.เป็นต้นไป จนกระทั่ง ใกล้เวลาเที่ยงคืนก็สวดชัยมงคลคาถา เพื่อเป็นมงคล เหมือนเคาต์ดาวน์ของชาวบ้านทั่วไป ส่วนพระสงฆ์ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ก็ไม่ขวางพิธีกรรมที่อวยชัยให้พรแบบนี้ นอกจากบอกว่า จะให้เป็นมงคลแก่ตนเองยิ่งขึ้น ต้องรู้เท่าทันทุกข์ คือต้องใช้ปัญญามาช่วย หากมีความทุกข์ ต้องแก้ด้วยปัญญา ความสุขก็เกิด
นอกจากเสียงสวดมนต์แล้ว มหาเถรสมาคม (มส.) ขอให้วัดต่างๆ ย่ำระฆังและตีกลอง ในช่วงเปลี่ยนผ่านอีกด้วย พร้อมทั้งเห็นชอบที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเพิ่มกิจกรรมตามโครงการสวดมนต์ข้ามปี ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2561 เพราะที่ สสส.จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีร่วมกับวัดและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดทั่วประเทศ ต่อเนื่องกันมาได้เกิดผลดีมากมาย เช่น ลดอุบัติเหตุ อาชญากรรม ฯลฯ ทำให้เกิดเป็นกระแสความนิยมที่คนไทยส่วนใหญ่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยการสวดมนต์ข้ามปีโดยทั่วไป สสส.จึงขอให้ พศ.นำเสนอ มส.ให้ สสส.เป็นองค์กรร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะ "สวดมนต์ข้ามปี" และให้ทุกวัดที่จะจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีอยู่แล้ว ได้เพิ่มกิจกรรมเชิญชวนให้มีการตั้งสัจอธิษฐาน ทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้น โดย สสส.และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จะผลิตใบลงนามตั้งสัจอธิษฐานบำเพ็ญบารมีสนับสนุนถวายวัดทั่วประเทศ 999 วัด
การสวดมนต์ข้ามปี มิได้รับความนิยมในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ก็จัดเช่นกัน ในการนี้องค์กรชาวพุทธเมียนมาเชิญ ศุภชัย วีระภุชงค์ และคณะ ในนามสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และผู้แทนคณะสงฆ์ไทย สปป.ลาว กัมพูชา ไปสวดมนต์ข้ามปีร่วมกับชาวพุทธเมียนมา ที่มหาเจดีย์ชะเวดากอง (จำลอง) ในกรุงย่างกุ้งในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2560 และวันปีใหม่ 1 ม.ค. 2561 ด้วย
แต่ถ้าจะทำให้คนอื่นได้รับความสุขทั่วๆ กัน ไม่มีการกระทำใดเกินกว่า ทาน หรือการให้ ตัวอย่างล่าสุดแห่งการให้ที่สร้างความสุขให้แก่คนทั้งประเทศ ได้แก่ โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล ของ ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย พร้อมคณะ ที่วิ่ง 2,215.40 กม. จาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมเวลา 55 วัน ได้รับเงินบริจาคจากประชาชน องค์กรต่างๆ รวมแล้วถึง 1,214 ล้านบาท (ตัวเลขวันที่ 27 ธ.ค. 2560) ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกศาสนา ต่างมีความสุขที่เห็นการเสียสละของตูนและคณะที่ทำเพื่อให้ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน
ดังนั้น ใครที่คิดจะคืนความสุขแก่คนไทย ไม่ต้องดูตัวอย่างที่ไหน ตูน บอดี้สแลม ทำให้เห็นแล้ว