‘ตำบลหนองอียอ’ พื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดเหล้า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


'ตำบลหนองอียอ' พื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดเหล้า thaihealth


ลบภาพชินตานั่งล้อมวงดื่มเหล้าของตำบลหนองอียอ เป็นการรวมพลังชุมชนรณรงค์งดดื่มแอลกอฮอล์


เทศกาลหรือกิจกรรมใดๆ เช่น งานวันเกิด งานบวช หรืองานศพ เรามักจะเห็นภาพชินตาของบรรดาชาวบ้านและวัยรุ่นนั่งล้อมวงดื่มเหล้า ซึ่งมักตามมาด้วยความสูญเสีย อาทิ เกิดการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุบนท้องถนน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปีใหม่และสงกรานต์ แต่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ กลับไม่ยอมให้เกิดปัญหาดังกล่าว ด้วยการรวมพลังของชาวชุมชนรณรงค์งดดื่มแอลกอฮอล์


นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ กล่าวว่า พื้นที่นี้เคยประสบปัญหาชาวบ้านดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ จึงเกิดแนวทางรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านดื่มเหล้าในทุกๆ เทศกาลหรือทุกกิจกรรมของชุมชนที่จัดขึ้น โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนคนอาสาหนองอียอ จากการรวมตัวของเยาวชนเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา จนมีแกนนำและเยาวชนในพื้นที่มาร่วมเป็น "จิตอาสา" ให้กับชุมชน จนเกิดเป็นโครงงานรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


"สำหรับโครงงานรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นความตั้งใจแน่วแน่ของเยาวชนที่จะช่วยทำให้บ้านตัวเองปลอดเหล้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ทำแค่ครั้งสองครั้ง แต่จะทำต่อเนื่องตลอดปี ทั้งเทศกาล งานบุญ หรือกิจกรรมย่อยในชุมชน" หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ กล่าว


'ตำบลหนองอียอ' พื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดเหล้า thaihealth


นายสิริชัย พร้อมดี "น้องยะ" จากโรงเรียนหนองอียอวิทยา อายุ 19 ปี ในฐานะแกนนำเยาวชน กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ ช่วยกันจัดทำบูธประชาสัมพันธ์ แจกแผ่นโปสเตอร์ สติกเกอร์ ลูกโป่ง มีข้อความรณรงค์ให้ลด ละ เลิกแอลกอฮอล์ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ใหญ่และให้เพื่อนๆ น้องๆ ช่วยกันเดินรณรงค์ และมีการเล่นเกมแจกของรางวัลให้กับเด็กๆ


"ทีแรกพวกเราก็ตื่นเต้นว่าจะมีใครมาร่วมเล่นกับเราไหม เพราะเป็นครั้งแรกที่จัดกันแบบมีบูธนิทรรศการ แต่ปรากฏว่ามีน้องมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ผู้ปกครองก็ให้ความสนใจ ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่ารณรงค์ได้ผลหรือไม่ แต่ผมก็มั่นใจว่าหากทำกิจกรรมแบบนี้ในชุมชนบ่อยๆ ก็จะทำให้คนซึมซับ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะได้มีความรู้เรื่องโทษของการดื่มเหล้า และผมคิดว่าถ้าเราทำกิจกรรมแบบนี้ต่อเนื่องน่าจะทำให้ตื่นตัวและเกิดการซึมซับได้ครับ" น้องยะกล่าว


นายสุรชัย ด้วงโพธิ์ "อี้" อายุ 23 ปี แกนนำเยาวชนตั้งแต่รุ่นแรกๆ บอกว่า ผมว่าการให้น้องๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์จะทำให้เด็กๆ ได้ตระหนักว่าแอลกอฮอล์ดีหรือไม่ดีอย่างไร ส่วนผู้ปกครองก็จะเกิดความตระหนัก แต่คิดว่าการที่เด็กมารณรงค์ให้กับพ่อแม่เป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะพอเราไปบอกก็เหมือนเป็นเด็กมาสอนผู้ใหญ่ ก็คิดว่าถ้าหากมีผู้ใหญ่ที่เลิกแอลกอฮอล์ได้แล้วและไปช่วยรณรงค์ด้วย จะยิ่งทำให้เกิดความสำเร็จได้ง่ายขึ้น


สำหรับ อบต.หนองอียอ กับกลุ่มเยาวชน เกิดเป็นพลังเหนียวแน่น ช่วยกันพัฒนาชุมชนให้ปลอดสุรา หลังจากเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 2 หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หลังจากใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่มองเห็นศักยภาพของเยาวชน และเปิดโอกาส สนับสนุน ส่งเสริม จนสามารถรวมกลุ่มจนกลายเป็นพลังสำคัญของชุมชนในวันนี้


นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังสามารถแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันได้อีกด้วย โดยกำหนดเป็นแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนไว้ในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม โดย นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ กล่าวต่อว่า เราได้นำกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดกิจกรรมกีฬา จิตอาสาเก็บขยะ ถวายเพลพระ ทำความสะอาดวัด และมีการรวมกลุ่มทำสันทนาการ เป็นต้น จนทำให้เด็กๆ เข้ามาร่วมเป็นแกนนำเยาวชน และส่งผลให้บรรยากาศในชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป พอจัดงานเทศกาลต่างๆ เด็กๆ ที่ตีกันเริ่มน้อยลง จนในที่สุดก็หายไปเอง อย่างเช่น เทศกาลสงกรานต์ เยาวชนก็มารวมตัวกันรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความชื่นมื่นให้กับชุมชนอย่างมากเลยทีเดียว


'ตำบลหนองอียอ' พื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดเหล้า thaihealth


หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ กล่าวต่อว่า เราใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป เป็นเพื่อนของเด็ก เราดูแลอยู่ห่างๆ ก็จะเข้ากับจริตของเด็ก ไม่ชอบให้ใครบังคับ พาเด็กทำกิจกรรมสนุกสนาน แต่แฝงไปด้วยความรู้ กิจกรรมที่ให้เขาคิดเอง ทำเอง มีความสุขในสิ่งที่เขาทำ และเขาก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเอง ถ้าหากพื้นที่ไหนอยากนำวิธีของหนองอียอไปใช้ เราสามารถถ่ายทอดได้ แต่คนที่นำไปทำต้องใช้ความอดทน ระยะเวลา เพราะการทำงานกับเด็กๆ ในการเข้ามาแรกๆ เขาไม่ได้ศรัทธาในตัวคนทำ และเรื่องของเวลา ถ้าคิดว่าทำปุ๊บจะให้เปลี่ยนปั๊บเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีที่ทำต่อเนื่องจริงจังถึงจะเริ่มเห็นผล


"คนที่ทำเรื่องเด็กต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เด็กมีความเบื่อเร็ว ความหลากหลาย มีความต่อเนื่อง มีความจริงใจ และจิตวิทยาต่างๆ เกี่ยวกับเด็กต้องมี อย่าคาดหวังผลประโยชน์กับเด็กมากเกินไป และที่สำคัญต้องมีภาคีในพื้นที่ เช่น ประสานโรงเรียน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องเข้าถึง ถ้าเข้าไม่ถึงจะมีปัญหาเลย เด็กมาทำกิจกรรม แต่ขาดเรียน ครูจะไม่ชอบ ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้ครูหรือโรงเรียนเห็นผลประโยชน์ ว่านักเรียนมาทำแล้วเป็นผลดีต่อเด็ก" หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ กล่าวทิ้งท้าย


นี่คืออีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบที่สร้างชุมชนแห่งนี้ให้เกิดความสุข สงบ และพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะให้ความสำคัญด้วยการบ่มเพาะและถ่ายทอดสิ่งดีงามให้แก่เยาวชน และนำพลังจากเยาวชนมาช่วยสร้างสรรค์ชุมชนกันต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code