ตามหาของดีวิถีชุมชนฝั่งธนบุรี

 

ความสำคัญของรากเหง้าทางวัฒนธรรม สื่อภูมิปัญญา ของดีที่มีอยู่ในชุมชน ขณะนี้กำลังถูกรุกด้วยกระแสสังคมบริโภค เด็กเยาวชนต่างถูกดึงออกห่างจากสิ่งเหล้านี้ ดังนั้นการสร้างขบวนการทางวัฒนธรรม เพื่อสื่อสารให้เขาได้เห็น ได้เข้าใจได้สัมผัส ได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องภูมิปัญญาและสื่อทางวัฒนธรรม จะช่วยทำให้เขาเกิดการซึมซับ สามารถสร้างความแข็งแรงให้กับลูกหลานได้ในอนาคต

และเพื่อเป็นการจุดประกาย ความตื่นตัวให้คนในชุมชน ได้ตระหนักเห็นคุณค่าและร่วมกันสานต่อ เพื่อให้ขบวนวัฒนธรรมคงอยู่สืบไป จึงจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายมารองรับ เพื่อให้การดำเนินงาน ของหน่วยงานหรือชุมชนต่างทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ประเพณี และวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทย มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ15 ชุมชนฝั่งธนบุรี จึงร่วมจัดกิจกรรม”ตามหาของดีวิถีชุมชนฝั่งธนบุรี” ตอน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ (ฉบับประชาชน) ต่อลมหายใจสื่อพื้นบ้าน เพื่อแสดงพลังและถ่ายทอดวิถีชุมชนที่อยู่และสืบทอดมานับร้อยๆปี รวมทั้งเป็นโซนชุมชนที่สร้างศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆนับ 10 ท่าน ที่วัดโพธิ์เรียง กทม.

นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ แกนนำชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กล่าวว่าชุมชนฝั่งธนฯ เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม ชาวบ้านยังรักษาขนมธรรมเนียม วิถีประเพณีอยู่อย่างเหนียวแน่น แต่ด้วยความเจริญของสังคมเมืองและระบบเศรษฐกิจและการย้ายถิ่นของประชาชนทำให้วัฒนธรรมประเพณีถูกรุกราน ละเลย ไม่ให้ความสำคัญ อีกทั้งศิลปวัฒนธรรมดีๆหลายอย่างได้สูญหายตายไปกับปราชญ์ผู้รู้ ขาดการถ่ายทอด สู่ลูกหลาน เราจัดงานนี้เพื่ออนุรักษ์รักษา และเตือนความทรงจำให้กับคนในชุมชนให้ร่วมรักษาสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดีๆของเราไว้ เพราะที่ผ่านมารัฐเองก็ละเลย ไม่ค่อยสนใจที่จะอนุรักษ์อย่างจริงจังเราอยากให้ กทม.และ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมอย่างยั่งยืน

ด้านนายอนุชา เกื้อจรูญ ปราชญ์ชุมชนผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชุมชนตรอกข้าวเม่า กล่าวว่า ชุมชนตรอกข้าวเม่า เป็นชุมชนที่มีตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และตรอกข้าวเม่าเองจะมีจุดเด่นเฉพาะตัวคือ เรื่องของการทำอาหารที่มาจากข้าวเม่าอาทิ กระยาสารท,ข้าวเม่าหมี่ ซึ่งการประกอบอาหารเหล่านี้ได้รับการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นชื่อเรียกว่า”ตอกข้าวเม่า” แต่ในปัจจุบันได้จดทะเบียนกับ กทม.จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ชุมชนตรอกข้าวเม่า

“ด้วยกรรมวิธีทำอาหารที่ใช้เวลานาน และเต็มไปด้วยความประณีต จึงทำให้การทำอาหารที่มีจากข้าวเม่าของชุมชนเริ่มหายไปจากชุมชนที่มาพร้อมกับความเจริญ ตนและคนรุ่นแรกจึงให้เห็นควรว่าชุมชนตรอกข้าวเม่าควรจะอนุรักษ์การทำอาหารที่มีวัตถุดิบมาจากข้าวเม่าให้คงอยู่สืบต่อไปและเพื่อที่จะให้คนรุ่นหลังได้รู้จักที่มาที่ไปของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ได้รู้ว่า ทำไมเขาจึงเรียกที่นี่ว่าตรอกข้าวเม่า และชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีดีอะไร”ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ของชุมชนตรอกข้าวเม่าตั้งอยู่ที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญวัดสุทธาวาส เขตบางกอกน้อย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกทม.ปีละ 1.2ล้านบาท ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยข้าวของเครื่องใช้ในอดีต รวมทั้งประวัติของชุมชน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้รับความรู้

นายอนุชา กล่าวว่า ข้อดีของการมี พ.ร.บกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ฉบับประชาชน) คือ กฎหมายจะเป็นเกราะคุมกันให้ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีของชุมชนต่างๆคงอยู่สืบต่อกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะที่ผ่านมา ชุมชนตรอกข้าวเม่าจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีและต่อเนื่อง จะประชาสัมพันธ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวหรืองานออกร้านต่างๆ ซึ่งเมื่อจัดงานเสร็จแล้วทุกอย่างก็จบ

“ประเพณี วัฒนธรรม ที่คนโบราณเขาคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ล้วนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัย และวิถีการดำรงอยู่ของผู้คน ตลอดจนเป็นการสื่อความถึงจารีตวัฒนธรรมและข้อปฏิบัติของยุคสมัยชุมชนนั้นๆประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น สื่อพื้นบ้าน ในชุมชนถูกละเลย ขาดการสืบสานต่อ ทั้งๆที่เป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชนในการสร้างเกราะป้องกันให้กับเด็กเยาวชน ชุมชน ดังตัวอย่างที่เรานำมาโชว์วันนี้ ว่าศิลปวัฒนธรรม สามารถจับต้องได้ เข้าถึงเด็กๆได้ ช่วยป้องกันเด็กไม่ให้หลุดไปอยู่ในพื้นที่อโคจรที่เป็นภัยต่อเขา”

อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ที่กำลังเข้าสภาจะเป็นกลไกและเครื่องมือสนับสนุนการดำรงอยู่ของสื่อพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรมชุมชนให้มีความยั่งยืนไดิ้ นายอนุชากล่าวสรุปการรู้รากเหง้าของตนเอง จะทำให้คนไทยเกิดความรักความภาคภูมิใจและหวงแหน ในประเพณี วัฒนธรรมที่ดีของตนเปรียบเสมือนอาคารสูงที่มีการตอกเสาเข็มที่แข็งแรง ทำให้อาคารนั้นๆคงอยู่ได้อย่างยาวนาน แต่ในทางกลับกันหากคนไทยไม่รู้รากเหง้าของตนเองก็จะเป็นเหมือนอาคารที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงรอแต่วันที่จะพังทลายลงมา

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Shares:
QR Code :
QR Code