ตั้งเป้ากำจัดโรคหัดให้หมดภายในปี 2563

กระทรวงสาธารณสุข เผยตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดในประเทศไทยลงให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี พ.ศ.2563

น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สานต่อแผนงานกำจัดโรคหัดในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการตามพันธะสัญญานานาชาติ โครงการกำจัดโรคหัดได้ถูกดำเนินการจนประสพผลสำเร็จครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และขยายความสำเร็จไปยังประเทศรอบข้าง จนประสพผลสำเร็จทั่วทั้งภูมิภาคในปี พ.ศ.2545 คือสามารถหยุดยั้งการเกิดโรคหัดจากเชื้อในภูมิภาคได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิต จะมีก็เพียงผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่มาจากนอกภูมิภาค ความสำเร็จในภูมิภาคอเมริกา ทำให้ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจโครงการกำจัดโรคหัด

โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก ได้มีข้อตกลงจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 ในปี พ.ศ.2553 ให้ตั้งเป้าหมายการกำจัดโรคหัดให้สำเร็จทั่วทั้งภูมิภาคภายในปี พ.ศ.2563 จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวมาจนถึงข้อตกลงร่วมกันในภูมิภาค ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขจึงได้อนุมัติแผนโครงการกำจัดโรคหัด ซึ่งเป็นแผนดำเนินการระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553–2563 เนื่องจากการกำจัดโรคหัดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงจะดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ โดยตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดในประเทศไทยลงให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี พ.ศ.2563

ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันโดยการไอ จาม หรือมีการพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด โรคหัดแม้มีอัตราป่วยตายต่ำ ในเขตชุมชนที่เด็กทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรง และสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังคงเป็นอันตรายในเด็กทารกทั่วไปหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการจากชุมชนที่ยากจนและห่างไกล โรคหัดที่มีภาวะอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง หากรักษาล่าช้า อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือถึงแม้ไม่เสียชีวิต เด็กก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน บั่นทอนพัฒนาการและการเจริญเติบโต โรคหัดในเด็กโตและผู้ใหญ่วัยทำงาน ทำให้ต้องหยุดเรียน หยุดงาน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคไปยังเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำได้

ดังนั้นผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนัดหมายให้ครบถ้วน วัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งปัจจุบันให้ในรูปของวัคซีนรวม คือวัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุครบ 9 เดือน และครั้งที่สอง เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และในปี พ.ศ.2557 จะปรับเปลี่ยนการให้ครั้งที่สองจากเดิมประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นอายุ 2 ปีครึ่ง เนื่องจากพบผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่าวัยเรียนเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหัดปีละประมาณ 4,000-7,000 ราย ทั้งนี้เป็นผู้ป่วยจากการวินิจฉัย ไม่ได้ตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหัดจริงๆ อาจจะมีจำนวนที่น้อยกว่านี้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code