ตั้งหน่วย “ธาลัสซีเมีย” ลดการแพร่โรคทางพันธุกรรม
“โรคธาลัสซีเมีย” หรือที่รู้จักกันดี ในชื่อว่า โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ จะพบมากในเขตภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ และเกิดจากมีผู้เป็นพาหะของโรค (ยีนแฝง) ประมาณร้อยละ 30-40
ศ.เกียรติคุณ นพ.ต่อพงษ์ สงวนเสริมศรี รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยธาลัสซีเมีย มหาวิทยาลัยพะเยา เล่าถึงการก่อตั้งสถาบันมนุษยพันธุศาสตร์ หน่วยธาลัสซีเมีย ม.พะเยา ว่า เกิดจากการริเริ่มจาก ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เห็นถึงปัญหาโรคธาลัสซีเมีย และเขตภาคเหนือมีผู้ป่วยโรคนี้มาก
สำหรับโรคโลหิตจาง เป็นโรคที่เกิดจากการมียีนผิดปกติ ไม่สร้างเฮโมโกลบิน ส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งแบ่งตามลักษณะความผิดปกติของยีนได้ 2 ชนิด คือ อัลฟ่าและเบต้าธาลัสซีเมีย โดยพ่อและแม่เป็นผู้ถ่ายทอดยีนผิดปกติให้ลูก โดยผู้เป็นพาหะของโรค หรือผู้ที่มียีนแฝงธาลัสซีเมียอยู่ในตัว เป็นบุคคลที่มีสุขภาพเหมือนคนทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปยังลูกได้
ดร.เนรัฐชลา สุวรรณคนธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ บอกว่า จังหวัดพะเยาเป็นเขตจังหวัดที่มีโรคนี้ค่อนข้างเยอะ ถือได้ว่าเป็นเขต hot spot ก็ว่าได้ ถ้าเรามีสถาบันมนุษยพันธุศาสตร์ หน่วยธาลัสซีเมีย จะคัดกรองและให้คำแนะนำบุคคลที่กำลังวางแผนแต่งงาน มีบุตร จะแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวต่อไป
สถาบันมนุษยพันธุศาสตร์ฯ ระยะแรกจะเริ่มตรวจนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ชั้นปีที่ 1 ก่อน เพื่อตรวจพาหะโรคธาลัสซีเมีย และเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป โดยมีเป้าหมายขจัดปัญหานี้ในระยะเวลา 5 ปี ส่วนระยะต่อไป จะขยายการบริการให้กับบุคลากรและประชาชนจังหวัดพะเยา และใกล้เคียง
อาจารย์ธีรภัทร ศรีรัตนโชติ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ผลดีสำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจเลือดเพื่อค้นหาโรคธาลัสซีเมีย จะวางแผนครอบครัวได้อย่างถูกต้อง และลดปัญหาการเกิดโรคนี้ได้อย่างถาวร แต่ถ้าในรายที่ตั้งครรภ์ หมอจะเจาะเลือดสายสะดือทารก หรือเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นต้องไปรับคำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ที่ถูกต้องจากแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย
อาการที่สำคัญของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย คือมีภาวะโลหิตจางหรือ ซีด เนื่องจากเม็ดเลือดแดง ที่ผิดปกติถูกทำลาย ภาวะซีดนี้ ก่อให้เกิดผลตามมาหลายประการ เช่น ตัวเล็ก เหนื่อยง่าย หัวใจโตทำงานหนัก เพราะต้องสูบฉีดเลือดที่จาง มีลักษณะกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น โหนกแก้มสูง หน้าผากสูง เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ถูกทำลาย เร็ว ทำให้ตัวเหลือง ตับม้ามโต เกิดการสะสมธาตุเหล็กมากเกินไป ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ เช่น ไม่เติบโตเป็นหนุ่มสาว โรคเบาหวาน และอื่นๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด