ตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ thaihealth


จากผลการศึกษาโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค เกี่ยวกับเรื่อง สภาวการณ์สุขภาพพระสงฆ์ไทย พบว่า พระสงฆ์ไทยโดยเฉพาะในเขตเมืองและกทม. กว่า 50% มีสุขภาพไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดกิจกรรม ให้ความรู้แก่ฆราวาสและพระสงฆ์ เพื่อช่วย ส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ให้ห่างไกลจากโรคที่กำลังเผชิญอยู่


รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ สสส. กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่พบคือ พระสงฆ์ในกทม.และในเขตเมืองเป็นโรคอ้วนถึง 48% คอเลสเตอรอลสูงและเบาหวานถึง 10% ซึ่งต่างจากชายไทยธรรมดาที่มีภาวะอ้วน 28% และเบาหวาน 6% พระสงฆ์ จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากกว่าชายไทย ดังนั้นทาง โครงการจึงวิจัยว่าอะไรเป็นปัญหาและสรุปได้ 4 ประเด็นหลักคือ "โภชนา ปาณะ กายะ กิจกรรม"


ตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ thaihealth


ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรค อธิบายเพิ่มว่า คณะวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจอาหารใส่บาตรตั้งแต่ต้นทางจากเส้นทางบิณฑบาตของวัดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ขายอาหารใส่บาตรเตรียมของและปรุงอาหาร ตั้งแต่ตี 4-5 นั่นแสดงว่า กว่าอาหารเหล่านั้นจะมาถึงช่วงเวลา ใส่บาตรก็ผ่านไปถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้มีการปนเปื้อน ไม่สดใหม่ ที่น่ากังวลคือคุณค่าทางโภชนาการของอาหารหายไป เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่ผู้ค้าทำมาขาย จะเป็นอาหารง่ายๆ เช่น ไข่พะโล้ พะแนง แกงเขียวหวาน หมูทอด ซึ่งจะมีกะทิเป็น ส่วนประกอบ ทำให้อาหารมีคอเรสเตอรอลสูง และยังมีเนื้อสัตว์น้อย ซึ่งโดยเฉลี่ยพระสงฆ์ไทยได้รับโปรตีนเพียง 60% ต่อปริมาณ ที่ร่างกายควรได้รับ จึงทดแทนด้วยการ ดื่มน้ำปานะที่มีรสหวาน เฉลี่ย 2 แก้ว เพื่อชดเชยพลังงาน จึงเป็นสาเหตุให้พระสงฆ์เป็นโรคอ้วน และอีกปัญหาหนึ่งคือ พระสงฆ์กลัวการออกกำลังกาย เนื่องจากเกรงว่าจะผิดพระธรรมวินัย


เรื่องเกี่ยวกับการออกกำลังกายของพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับวินัยสงฆ์ พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไขข้อข้องใจว่า พระสงฆ์ไม่สามารถปฏิเสธการใส่บาตรของฆราวาสได้ก็จริง แต่สามารถเลือกฉันได้ โดยพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหาร พอสมควร และพระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาส อย่าง เต้นแอโรบิกหรือเข้าฟิตเนสเพราะต้องประพฤติตนสำรวม แต่สามารถออกกำลังกายโดยการใช้หลักกิจวัตร 10 ประการของพระสงฆ์ ซึ่งประกอบไปด้วย เดินบิณฑบาต เดินจงกรมในวัด กวาดลานวัด แกว่งแขนในวัด ซักผ้า ตากผ้า และงานสาธารณูปการภายในวัด ซึ่งจะทำให้พระสงฆ์ได้ขยับร่างกายและมีสุขภาพที่ดีขึ้น


ตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ thaihealth


สำหรับแนวทางการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์อย่างเป็นระบบ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากมีการเคลื่อนไหวจากมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีผลให้เกิดมติมหาเถรสมาคม เรื่องพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ จึงมีการทำงานร่วมกันในการพัฒนา "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ แห่งชาติ" เพื่อเป็นเครื่องมือปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ฆราวาส และหน่วยบริการสุขภาพ ในการสร้างเสริมสุขภาพที่นำเอาหลัก พระธรรมวินัยเป็นตัวนำ และใช้ความรู้ทางสุขภาพเป็นตัวเสริม ซึ่งในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์จะมี 3 มิติที่เกี่ยวข้อง คือ 1.พระสงฆ์ กับการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพตนเอง 2.ฆราวาส ชุมชนและบุคลากรทางสุขภาพ ควรมีข้อปฏิบัติในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างไรที่เหมาะสมตามหลักพระธรรมวินัย และ 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำของชุมชนด้านสุขภาพ โดย สช.จะร่วมสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งในเดือนส.ค. และก.ย.นี้ วางแผนไว้ว่าจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพ พระสงฆ์แห่งชาติ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อเห็นชอบ และประกาศให้ภาคีเครือข่ายรับทราบในสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 ในเดือน ธ.ค. นี้


ซึ่งจากโครงการดังกล่าวนี้ คุณบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกและเป็นมิติใหม่ ในการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์ อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากธรรมนูญสุขภาพ แห่งชาติประกาศใช้แล้วจะมีการเสนอไปยังที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในพระสงฆ์ร่วมกันทั่วประเทศเพื่อให้พระสงฆ์ตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง หลักปฏิบัติที่ถูกต้องของฆราวาส รวมถึงการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทาง สุขภาพ ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกของ สงฆ์และหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ในการ ดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างเป็นระบบต่อไป


เข้าพรรษานี้ ทำบุญให้ได้บุญ เห็นทีว่า ฆราวาสทั้งหลายคงต้องคำนึงถึง สุขภาพพระทุกครั้งที่จะใส่บาตร เป็นอันดับแรก

Shares:
QR Code :
QR Code