ตักบาตรน้ำนม ลดคนดื่มน้ำเมา
เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่จะทำให้ชีวิตของคนไทยแฮปปี้มากขึ้น! กับครั้งแรกของ “ธรรมะในฟาร์ม ตักบาตรนมสด” กิจกรรมต่อยอดสุดเวิร์กจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่แท็กทีมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) หรือไทย-เดนมาร์ก ร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยงดเหล้าหันมาดื่มนมสร้างสุขภาพ-ภูมิคุ้มกันให้ชีวิต ตามสโลแกน “งดเหล้าเข้าพรรษา” เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังพบคนไทยดื่มเหล้ามากกว่านมถึง 4 เท่า!!!
ด้วยสถิติคนไทยดื่มนมแค่ 14.19 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่อัตราบริโภคนมโดยเฉบี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 60 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2,699 ล้านลิตรต่อปี หรือเฉลี่ยแล้วประมาณ 53 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าการดื่มนมเกือบ 4 เท่า นับเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงระหว่างการเสริมสร้างสุขภาพและการทำลายสุขภาพ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยคือที่ผลิตฐานน้ำนมดิบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้
ดังนั้น สคล.จึงผนึกกำลังกับ อ.ส.ค. และ จังหวัดสระบุรี เปิดบ้านวัวงแดงสัญลักษณ์ของนมไทย-เดนมาร์ก อ.มวกเหล็ก อย่างเป็นทางการเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมน้ำดีให้แก่พี่น้องเมืองโคนม รวมถึงประชาชนทุกคนในประเทศ เนื่องจากตัวแทนของทั้งสองหน่วยงาน รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าปีหน้า (2556) จะขยายโครงการธรรมะในฟาร์ม ตักบาตรนมสดให้ขจรไกลไปในทุกพื้นที่
ถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีในฐานะเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ธรรมะในฟาร์มและตักบาตรนมสด” บอกว่า จังหวัดสระบุรีมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามคือ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดการร่วมกับตักบาตรนมสด เป็นอีกหนึ่งทางของการทำบุญ เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงคุณของน้ำนมและโทษของน้ำเมา ซึ่งพระสงฆ์ก็ได้สุขภาพที่ดีกลับไปด้วยเพราะได้ดื่มนมสด และยังเป็นการทำดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“เนื่องจากสระบุรีเป็นเมืองโคนม เป็นฐานในการผลิตน้ำนมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ การร่วมบุญในครั้งนี้เป็นการร่วมสร้างความดีให้มีมากขึ้น มีการรักษาศีลอย่างน้อย ศีล 5 ก็จะช่วยขจัดความมัวเมาหลงผิดของเราได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของทางจังหวัดอีกด้วย รับปากว่าในปีหน้าจะขยายไปสู่พื้นที่ ๆ อื่นของจังหวัด โดยจะทำให้เป็นประเพณีขึ้นมา”
และด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่แสนร่มรื่นของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ที่ดัดแปลงเพิ่มเป็นสถานท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติราคาย่อมเยา เจ้าของสถานที่อย่าง นพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค.ที่เห็นดีเห็นงามและมองว่ากิจกรรมครั้งนี้ทำให้ขีวิตคนไทยแฮปปี้มีแต่ได้กับได้ ออกปากว่า
“เรายินดีที่ได้จัดโครงการงดเหล้าเข้าพรรษามหากุศลในครั้งนี้ และต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป เพื่อมอบสิ่งดีช่วยให้ชีวิตของพนักงานและประชาชนมีสุข ไม่ว่าจะเป็นธรรมะบรรยายท่ามกลางธรรมชาติ หรือแม้แต่ทำบุญตักบาตรนมสดแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกคนหันมาดื่มนม เพราะนมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ตัวอย่างที่ดีที่เห็นได้ชัดจากฟาร์มโคนมก็คือ คุณภาพชีวิตของคนทำฟาร์มโคนมดีขึ้น 80-90% ดื่มเหล้าสูบบุหรี่น้อยลงฟรือบางคนก็เลิกสูบไปเลย เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยการเอาใจใส่ ตื่นเช้า นอนหัวค่ำ และกลิ่นบุหรี่ ก็มีผลต่อคุณภาพของน้ำนม กลุ่มพนักงานหรือชาวล้านที่ประกอบอาชีพนี้จึงต้องเลิกไปโดยปริยาย”
อย่างไรก็ดีรอง ผอ.อ.ค.ส.แจงด้วยว่า การทำดีมีธรรมในใจต้องเริ่มมาจากข้างใน ฉะนั้น ที่ผ่านมานมไทย-เดนมาร์ก ได้ยึดหลักการบริหารงานภายใต้หลักเกณฑ์ 6 ข้อ คือ ความเชื่อมั่นความน่าเชื่อถือในตราสินค้าที่ผู้บริโภคไว้วางใจมาอย่างยาวนาน,คุณภาพนม,คุณค่า,ความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภค, ความรับผิดชอบต่อสังคม และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการที่จะเสนอสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ สู่ตลาดอยู่เสมอ ซึ่งกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็พยายามที่จะให้ความร่วมมือ เพราะเห็นถึงความสุขที่เกิดจากกิจกรรมนั้น ๆรวมทั้งยังช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศให้สามรถขยายน้ำนมดิบได้มากขึ้น
หากยังจำกันได้กับสโลแกนรณรงค์ “โตมาด้วยน้ำนม อย่าเสียคนด้วยน้ำเมา” ที่คุ้นหูมาตั้งแต่ปี 2546 ผ่านไปเกือบ 10 ปี ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สคล. ระบุชัดว่า ยังไปไม่ได้ถึงเป้าที่วางไว้เพราะตัวเลขของเยาวชนที่ดื่มเหล้าครั้งแรกนั้นดิ่งลงเหว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ปี แต่ก็มีม่น้อยที่เริ่มรู้จักรสชาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อนุบาล ขณะที่จำนวนนักดื่มหน้าใหม่ภายใน 10 ปี ลดลงเพียง 10,000 คน จาก 2.6 แสนคน เหลือ 2.65 แสนคน
“เยาวชนที่ดีเริ่มดื่มครั้งแรก ตอนนี้เป็นระดับประถม ซึ่งบางครั้งก็เป็นเด็กเล็กอายุเพียง 6 ขวบ ก็มี” ธีระกล่าว
ผู้จัดการ สคล. กล่าวต่อว่า เราจึงอยากจัดกิจกรรมหรือทำมาตรการที่ให้ผลระยะยาว โดยมุ่งเน้นไปที่มิติการปลูกฝังให้เหล่าเยาวชนกลุ่มอนุบาล และปฐมวัย เพราะถ้าเป็นวัยรุ่นอาจไม่โดน หรือไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมอยากรู้อยากลอง
“สิ่งที่เราพยายามทำเช่นกิจกรรมฟังธรรมะ ตักบาตรนมสด ก็เพราะเป้นสิ่งที่เด็กเล้กเขาจับต้องได้ เป็นการให้เขาได้เห็นครอบครัวทำดี สังคมทำดี และตัวเขาเองทำดี สิ่งเหล่านี้จะโตขึ้นอยู่ภายในจิตใต้สำนึก ซึ่งเราศึกษามาแล้วว่าวิธีการดังกล่าวในออสเตรเลียใช้ได้ผล ก้ได้แต่หวังว่าเมื่อเขาดตขึ้นประมาณ 13-15 ปี สิ่งหล่านี้จะเป็นเสมือนสายโซ๋ตึงความอยากลองหรือการดื่มเหล้าแบบไม่บันยะบันยังไว้ เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทยขาดภูมิคุ้มกันในเรื่องนี้มาก” ธีระแจงพร้อมกล่าวด้วยว่า
ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมน้ำดีที่กำลังทำอีก 1 อย่างคือ โครงการโพธิสัตย์น้อยชวนพ่อแม่เลิกเหล้าที่ร่วมทำกับ สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการชวนพ่อแม่ให้หันมาดื่มนมกับลูกแทนเหล้า พร้อมกับมีการเสนอว่าจะบรรลุสโลแกนโตมาด้วยน้ำนม อย่าเสียคนด้วยน้ำเมา ลงบนกล่องนมโรงเรียน เบื้องต้นจะหารือกับ อ.ส.ค.ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ท้ายนี้ ทางเครือข่ายขอให้กำลังใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันและก่อให้เกิดบุคคล ครอบครัวและองค์กรต้นแบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภายในงานยังประกอบไปด้วย โชว์การผสมเครื่องดื่ม healthy drink จาก นมสด การบรรยายธรรมเรื่อง “การปฏิบัติตนให้เข้าถึงธรรมะ ในธรรมชาติได้อย่างไร” โดยพระมหาสมปอง ตาลปุตโต พร้อมรับบริจาคหนังสือหรือสื่อซีดีธรรมะมือสอง เพื่อนำส่งห้องสมุดในทัณฑสถาน วัดที่ประสบอุทกภัย และสื่อซีดีธรรมะจะนำส่งโรงเรียนผู้พิการทางสายตา หรือมูลนิธิต่างด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์