ตะลุย “สวนผักออแกนิก”

          /data/content/26309/cms/e_ahknprvxyz48.jpg


        บนเนื้อที่ 1 งาน ที่ผู้ใจดีแบ่งปันให้เด็กๆ ของโรงเรียนบ้านคลองใหม่ ในเขตพื้นที่อำเภอ สามพราน จังหวัดนครปฐม ได้ใช้ประโยชน์โดยการทำแปลงเกษตรอินทรีย์ เขียวขจีไปด้วยพืชผักออแกนิก หลากหลายชนิด ใช้สำหรับเป็นอาหารกลางวัน ที่เหลือให้แบ่งขายสร้างรายได้ระหว่างเรียน สุขที่ได้ นอกจากสุขภาพที่ดี ยังสุขใจที่เกษตรกรน้อยเหล่านี้ได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ตระหนักถึงความสำคัญของพิษร้ายจากสารเคมี หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งยังซึมซับกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่วัยเยาว์


          ครูศุภากร จันทร์สุข ครูผู้รับผิดชอบงาน โครงการ เศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียน บ้านคลองใหม่ เปิดเผยว่า เหตุผลหนึ่งที่ต้องการให้เด็กทำสวนผักออแกนิกรับประทานเองในโรงเรียน เพราะอยากให้เด็กสุขภาพแข็งแรง ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งการซื้อผักผลไม้จากตลาดมาปรุงอาหารให้เด็กนั้นเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้างสูง หากร่างกายได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดโรคต่างๆ ตามมาแน่นอน เมื่อร่างกายไม่แข็งแรงการเรียนก็ไม่มีประสิทธิภาพ ทางโรงเรียนจึงวางแผนจะปลูกพืชผักกินเอง โดยใช้อินทรีย์แทนสารเคมี แต่เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด จึงขออนุญาตเจ้าของที่ ซึ่งมีพื้นที่ว่างติดกับโรงเรียน ประมาณ 1 งาน ให้เด็กๆ ได้ทำแปลงเกษตรอินทรีย์กัน


          “ช่วงแรกปลูกไม่เยอะ มีแค่ต้นแค กล้วย ผัก และโหระพา ที่ต้องใช้ในงานอาหารของโรงเรียน แต่ระยะหลังเห็น/data/content/26309/cms/e_bgjknstuxz89.jpgว่าปลูกแล้วได้ผลดี เด็กๆสนใจ ผู้ปกครองก็สนับสนุน จึงปลูกผักหลากหลายขึ้น ทั้งฟักข้าว มะละกอ มะเขือพวง ตะไคร้ ผลผลิตที่ได้นำไปขายให้กับโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ขายคุณครู ผู้ปกครอง แม่ค้า พอเห็นรายได้เห็นเงิน เด็กก็มีกำลังใจ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เขาอยากทำเกษตรอินทรีย์ ไปในตัว” ครูศุภากร กล่าว


          การทำเกษตรอินทรีย์นั้น ใครๆ ก็ทำได้ แต่จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่หลากหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และชนิดของพืชผักที่ปลูก


          ครูศุภากร บอกว่า ตัวเองไม่มีความรู้ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เลย รู้เพียงแต่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจริงๆแล้ว ทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กัน ทั้งเรื่องน้ำ ดิน ปุ๋ย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มแรกทำตามความรู้ที่มี ลองผิดลองถูก เน่าบ้าง เสียบ้าง แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการทำเกษตรอินทรีย์ กับ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ภายใต้โครงการ สามพรานโมเดล ได้ความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ปรับปรุงพัฒนา จนทุกวันนี้ผลการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าชื่นใจ


          “นอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว ทางสามพรานฯ ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยนำพนักงานมาช่วยเด็กๆ ขุดดินยกแปลง เพราะลำพังครูและนักเรียนคงต้องใช้เวลานานกว่าจะทำเสร็จ ทั้งยังช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำเกษตร ซึ่งงบของโรงเรียนมีไม่มากพอที่จะซื้อได้ตามความต้องการ เมื่อมีปัญหาให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านต่างๆ ทำให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม” ครูศุภากร กล่าว


          นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และกรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า สามพรานฯ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) โดยเชื่อมความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน ในการขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำการเกษตร/data/content/26309/cms/e_bgjkotuvy135.jpgอินทรีย์แบบครบวงจร เพื่อให้เกษตรกร และคนในอำเภอสามพรานดำรงชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน โดยปลอดจากสารเคมี


          “ตอนนี้การทำเกษตรอินทรีย์ได้ขยายเครือข่ายออกสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ ทั้ง ชุมชน วัด โรงเรียน เราต้องการปลูกฝังวิถีอินทรีย์ให้กับเด็กๆ ให้เขาได้ซึมซับ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โรงเรียนบ้านคลองใหม่ คือ อีกหนึ่งตัวอย่างที่สามพรานฯ ได้ให้การสนับสนุนดูแลจนสามารถยืนได้อย่างเข้มแข็ง และจะขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ เป้าหมายในอนาคต คือ ต้องการยกระดับสามพรานให้เป็นชุมชนแห่งความสุข ปลอดจากสารเคมี” นายอรุษ กล่าว


          เสียงใสๆ สะท้อนจากเกษตรกรตัวน้อยๆ อย่าง ด.ช. อดิศร น้องวงศ์ ชั้นป.4 บอกว่า เพิ่งมาทำงานเกษตรปีนี้ บอกว่า ตอนเย็นจากที่เคยไปวิ่งเล่นก็เอาเวลามาดูแปลงเกษตร ช่วยรดน้ำตนไม้ ถอนหญ้า พรวนดิน ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งการที่ได้ทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตร แบบโบราณที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ที่สำคัญผมคิดว่า ผมได้สุขภาพที่ดี ไม่ค่อยป่วย มาโรงเรียนได้ทุกวัน อยากให้เพื่อนได้รับประทานพืชผักออแกนิกส์ครับ ร่างกายจะได้แข็งแรง


          หนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นเวลาว่างหลังเลิกเรียน ด.ญ.เสาวรภย์ และด.ญ.เสาวลักษณ์ ภูชัยแสง ชั้นป.5 อายุ 11 ปี พี่น้องฝาแฝดคู่นี้ จะต้องไปที่แปลงผัก เพื่อรดน้ำ พรวนดิน และถอนหญ้า พวกเขาบอกว่า พ่อแม่ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะคิดว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าร่างกายแข็งแรงจะช่วยให้การเรียนได้ดีไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่ได้กินผักที่ปลูกเองโดยไม่ใช้สารเคมีนั้น ถือว่าดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน ที่เข้าใจก็คือ การทำเกษตรอินทรีย์นั้นดีต่อคนที่ปลูกและคนที่ได้รับประทานด้วย


          ความหวังของคุณครู นอกจากสุขภาพที่ดีของเด็ก ยังต้องการให้นักเรียนได้รับรู้และตระหนักถึงพิษภัยจากสาร/data/content/26309/cms/e_cdgkmpqsuw17.jpgเคมีตกค้าง ขณะเดียวกันหวังให้ซึมซับกระบวนการปลูกผักแบบไม่พึ่งพาสารเคมี วันข้างหน้าโตขึ้นจะได้เป็นอีกหนึ่งกำลังหลักสำคัญในการผลักดันให้คนเห็นคุณค่าของชีวิต เห็นความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดผลดีทั้งกับคนปลูกและคนกิน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย


          สำหรับผู้ที่สนใจชิม ผลผลิต พืชผัก ผลไม้ ออแกนิกหรือช๊อปผักสวนครัวในกระถางพร้อมปลูก อาทิ ฟักข้าว มะละกอ มะเขือพวง ตะไคร้ ของเกษตรกรน้อย โรงเรียนบ้านคลองใหม่ และผลผลิตอินทรีย์ ของเกษตรกรในอำเภอสามพราน เชิญได้ที่งานวันสังคมสุขใจ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2557 ณ สามพราน ริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ฟรี นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายอาทิ ตลาดน้ำย้อนยุค สวนอินทรีย์ลอยน้ำ ไอเดียการสร้างบ้านดิน เมนูความงามจากกุหลาบมอญอินทรีย์ เหล่านี้เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร 034 322 588-93 หรือ www.sampranmodel.com


 


 


             ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ


             ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code