ตะลึง!โรคอ้วนลามนักเรียนสพฐ.5 ปียอดพุ่งเกือบ 2 ล้านคน

สุรินทร์แชมป์เด็กอ้วน-สอนทาน”มังสวิรัติ”

 

ตะลึง!โรคอ้วนลามนักเรียนสพฐ.5 ปียอดพุ่งเกือบ 2 ล้านคน          เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายโรจนะ กฤษเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากีฬาและกิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์นักเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีภาวะทุพโภชนาการ ว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่ามีสถิติลดน้อยลงทุกปี โดยในปี 2549 พบว่าลดลงเหลือประมาณ 500,000 คน จากจำนวนนักเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศรวมจำนวน 8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ต่างจากอดีตที่มีจำนวนเด็กนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังสำรวจข้อมูลของปี 2550 แต่การประมวลผลยังไม่แล้วเสร็จ

 

            อย่างไรก็ตาม สพฐ.กลับพบปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ซึ่งเริ่มพบปัญหานี้ตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากจำนวนร้อยละ 6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 ร้อยละ 12 ร้อยละ 14 จนล่าสุดพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 22 หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียนประมาณ 1.76 ล้านคน อันเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศ ประกอบกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะนักเรียนในเมืองมักเป็นโรคอ้วนกันมาก เพราะชอบรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด จั๊งก์ฟู้ด เช่น ขนมกรุบกรอบ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด น้ำอัดลม โดยเฉพาะมันฝรั่งทอดมีวางขายอยู่หน้าโรงเรียนเป็นจำนวนมาก และเมื่อเด็กรับประทานแล้วก็มักจะมานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม ไม่ออกกำลังกาย จนร่างกายเกิดการสะสมไขมัน

 

          นายโรจนะกล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่พบแนวโน้มของปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนสูงที่สุด 20 เขตพื้นที่ฯ เรียงตามลำดับดังนี้ เขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ สมุทรปราการ นครราชสีมา อ่างทอง ปทุมธานี ขอนแก่น อุดรธานี นครนายก สุพรรณบุรี ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และลำปาง

 

            ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2552 สพฐ.จึงจัดสรรงบประมาณให้เขตพื้นที่ฯเหล่านี้เขตละ 1 แสนบาท รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท เพื่อนำไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน อาทิ จัดโครงการเด็กไทยแข็งแกร่ง เมืองไทยแข็งแรง ซึ่งเป็นโครงการที่ สพฐ.ดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยให้โรงเรียนจัดกิจกรรมให้นักเรียนออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 10 นาที และในชั่วโมงสอนพลศึกษาอีก 1 ชั่วโมง ซึ่ง สพฐ.ได้ทำหนังสือแจ้งเขตพื้นที่ฯทุกแห่งให้รับทราบแล้ว นอกจากนี้ จะต้องจัดสูตรอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้แก่นักเรียนรับประทาน โดยให้โรงเรียนปรุงอาหารมังสวิรัติให้เด็กรับประทาน ซึ่งอาจจะจัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอดจนดำเนินการตามโครงการเด็กไทยอ่อนหวาน คนไทยไร้พุง ของกรมอนามัย โดยให้โรงเรียนจัดหาน้ำสมุนไพรให้เด็กดื่มแทนน้ำอัดลม แต่ต้องไม่หวาน จัดโครงการนักเรียนตรวจ อย.น้อย โดยให้นักเรียนแนะนำอาหารที่มีประโยชน์ไม่เป็นพิษภัยกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เป็นต้น

 

          “สพฐ.จะติดตามผลว่าเขตพื้นที่ฯต่างๆ ดังกล่าวสามารถลดปัญหาเด็กอ้วนได้มากน้อยแค่ไหน โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปีงบประมาณ 2552 โรคอ้วนในเด็กวัยเรียนจะต้องลดลงร้อยละ 12 หรือแต่ละเขตพื้นที่ฯจะต้องลดให้ได้ร้อยละ 2 ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาโรคอ้วนไม่สามารถลดได้อย่างฮวบฮาบ ต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ค่านิยม ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ซึ่งจะแตกต่างกับปัญหาเด็กขาดสารอาหารที่สามารถโด๊ปได้ในทันทีแล้วเด็กก็มีสุขภาพดีขึ้น โดยเขตพื้นที่ฯใดสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมาย ทาง สพฐ.จะมอบเกียรติบัตรให้” นายโรจนะกล่าว

 

            อย่างไรก็ตาม ปัญหาโรคอ้วนไม่ได้พบในเด็กวัยเรียนเท่านั้น แต่ยังพบในวัยผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากด้วย โดยข้อมูลภาพรวมในประเทศไทยพบคนไทยเป็นโรคอ้วนติดอันดับ 5 ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิค ซึ่งโรคอ้วนนี้จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ราว 8 ชนิด ได้แก่ 1.ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต 2.ระบบเผาผลาญของร่างกาย เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ 3.ระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารเลื่อนมาในทรวงอก นิ่วในระบบทางเดินน้ำดี ตับอักเสบ 4.ระบบทางเดินหายใจ หอบ นอนกรน มีความผิดปกติของการหายใจ 5.เส้นประสาทเต้านมถูกกด เกิดมะเร็งเต้านม 6.ระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นหมัน 7.กระดูก ข้อกระดูกเสื่อมบริเวณเข่า สะโพก กระดูกหลัง โรคเก๊าต์ และ 8.จิตใจ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึมเศร้า และขี้กังวล

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 07-10-51

Shares:
QR Code :
QR Code