ตลาดสุขใจ พลิกเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์

พลิกเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อม


ตลาดสุขใจ พลิกเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ thaihealth


เกษตรกรไทยนั้นมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ที่กดราคาซื้อสินค้าก่อนจะรับของไปขายต่อ ขณะเดียวกันจากความต้องการให้มีพืชผลออกมาจำนวนมากๆ ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยหันไปพึ่งพิงการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต ทว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกษตรกรเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน หนำซ้ำยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพของทั้งเกษตรกรและตัวผู้บริโภคเองด้วย เมื่อเป็น เช่นนี้ทำให้สามพราน ริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมดังในย่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม เกิดความคิดผลักดันให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์กัน


อรุษ นวราช กรรมการ ผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการผลักดันเกษตรกรใน อ.สามพราน สู่วิถีเกษตรอินทรีย์ มาจากโรงแรมต้องการหาวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษมาให้ผู้บริโภครับประทานและใช้ แต่หายากมาก จึงจับมือหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำโครงการสามพรานโมเดล โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิสังคมสุขใจสนับสนุนเงินทุน ชวนเกษตรกรในพื้นที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีนักวิชาการให้คำแนะนำ


ตลาดสุขใจ พลิกเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ thaihealth"เราเริ่มคุยกับเกษตรกร 5 ปีก่อนชวนให้ทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมเปิดตลาดสุขใจในพื้นที่โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรนำสินค้าอินทรีย์มาจำหน่าย คิดเฉพาะค่าน้ำ-ค่าไฟ ตลาดเปิดมาแล้ว 4 ปีครึ่ง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เปิด 08.00-09.00 น. ปิด 15.00-16.00 น." อรุษ กล่าว


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรร่วมโครงการ 200 ราย แบ่งระดับเป็นเขียวอ่อน คือ ปรับมาทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีสิ้นเชิงแต่รอผู้มาตรวจสอบอยู่ ระดับเขียวกลาง คือ มีผู้มาตรวจไปแล้วแต่ยังไม่ได้ใบรับรอง และระดับเขียวแก่ คือ ได้ใบรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว ซึ่งพบว่าปีนี้มีระดับเขียวอ่อนแล้ว 80 ราย ระดับเขียวกลาง 60 ราย และระดับเขียวแก่ 30-40 ราย ที่ได้รับใบรับรองการเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว


สิ่งที่เกษตรกรได้รับเมื่อเปลี่ยนจากเกษตรใช้เคมีมาเป็นอินทรีย์คือ ไม่ต้องซื้อสารเคมีซึ่งถือเป็นต้นทุนใหญ่ แต่ซื้อปุ๋ยคอก มูลสัตว์มาหมักทำปุ๋ยเอง ทำให้ต้นทุนลดลง กรณีผลไม้ ต้นทุนลดลง 70% ข้าว ต้นทุนลดลง 50% ขณะที่แรงงานที่ใช้ก็เท่าเดิม แต่ราคาสินค้าขายได้ดีขึ้น ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เช่น จากเดิมเคยขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท ผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็เพิ่มเป็น 40 บาท เมื่อมาขายที่ตลาดสุขใจ ทำให้รายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 2 เท่า


ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้สุขภาพดีขึ้น เพราะไม่มีสารเคมีตกค้างในเลือด เกิดการรวมกลุ่มทางสังคม ซึ่งเกษตรอินทรีย์จะไปได้ดีมากหากทำร่วมกันเป็นกลุ่ม ส่วนสิ่งแวดล้อมโดยรวมก็ดีขึ้น เพราะไม่มีน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีลงแหล่งน้ำสาธารณะ ขณะที่สามพราน ริเวอร์ไซด์ ซึ่งร่วมก่อตั้งโครงการก็จะได้วัตถุดิบดีๆ มาใช้กับธุรกิจโรงแรมและธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร


อรุษ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดสุขใจคือช่องทางขายหลักของเกษตรกร และโครงการก็พยายามขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติม เช่น การจัดตลาดสุขใจสัญจรไปตามองค์กรต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นองค์กรแรก สัญจรเดือนละครั้ง ทำมาแล้ว 9 ครั้ง ได้รับการตอบรับดีมาก ส่วนองค์กรล่าสุดที่เพิ่งเริ่มสัญจร 3 เดือน คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ล่าสุดเพิ่งหารือเพื่อเตรียมจัดตลาดสุขใจสัญจรครั้งแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเดือน ก.ย.นี้ และจะทำต่อเนื่องทุกเดือนเช่นกัน


นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างทำ ระบบสมาชิกออนไลน์ให้พนักงานองค์กรต่างๆ สมัครเป็นสมาชิกและสั่งซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโครงการสามพรานโมเดลผ่านเว็บไซต์ จากนั้นจะรวบรวมคำสั่งซื้อของพนักงานทั้งหมดในองค์กรนั้น เพื่อเตรียมสินค้าส่งให้องค์กรนั้นเดือนละครั้ง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและเป็นการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ซึ่งก็จะเริ่มกับธนาคารไทยพาณิชย์กลุ่มแรก เพราะเป็นกลุ่มที่ซื้อสินค้าจากตลาดสุขใจสัญจรอยู่แล้ว


อรุษ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเกษตรกรโครงการสามพรานโมเดลมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการขายอยู่แล้ว แต่อนาคตคงต้องยกระดับโครงการเป็นกิจการเพื่อสังคม (เอสอี) เต็มรูปแบบให้โครงการหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย กรณีไม่มีผู้สนับสนุนทางการเงินแล้ว นับเป็นโครงการดีๆ ที่น่าสนับสนุนทีเดียว


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ตลาดสุขใจ

Shares:
QR Code :
QR Code