ตลาดนัดสีเขียวพิจิตรไร้สารพิษ

เกษตรกรส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ นำเอาสารเคมีต่างๆ มาใช้มากขึ้น เพราะมุ่งหวังแต่เรื่องของมูลค่าและตลาด การที่ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารปนเปื้อนสารเคมีจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค

ตลาดนัดสีเขียวพิจิตรไร้สารพิษ

จากการตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกร ของสำนักงานสาธารณสุข จ.พิจิตร ตั้งแต่ปี 2548-2553 พบว่ามีปริมาณสูง อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.15 เป็นร้อยละ 33.80 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการตรวจหาสารเคมีตกค้างในกลุ่มผู้บริโภค ที่พบว่าอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยโดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.33 เป็นร้อยละ 32.85

สำนักงานสาธารณสุข จ.พิจิตร จึงร่วมกับเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษ และมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จัดทำ “โครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลต้นแบบ” เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรใน จ.พิจิตร ทำการเกษตรด้วยกระบวนการปลอดสารพิษ และพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นสถานบริการ ที่มีการดำเนินงานอาหารปลอดภัยอย่างเป็นระบบครอบคลุมทุกห่วงโซ่ของอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยร่วมกับโรงพยาบาลนำร่อง 5 แห่งใน จ.พิจิตรประกอบไปด้วย ร.พ.พิจิตร, ร.พ.สมเด็จพระยุพราช อ.ตะพานหิน, ร.พ.วชิรบารมี, ร.พ.สามง่าม และ ร.พ.โพธิ์ประทับช้าง

ตลาดนัดสีเขียวพิจิตรไร้สารพิษ

เพื่อขยายเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษในพื้นที่ นำผลผลิตจากการเกษตรธรรมชาติใช้ประกอบอาหารให้ผู้ป่วย และสนับสนุนให้เกิดแหล่งจำหน่ายอาหารปลอดภัย โดยร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายจัดทำโครงการ “ตลาดนัดสีเขียว” ขึ้นในร.พ.แต่ละแห่ง เพื่อสร้างกระแสการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน จ.พิจิตร

น.พ.ประจักษ์ วัฒนกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.พิจิตร เผยว่าเกษตรกรทุกวันนี้มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คือผลิตเพื่อขาย มองเรื่องการค้าเป็นหลัก จึงต้องเร่งผลิต โดยพึ่งสารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆ พอขายได้เงินแล้วก็ต้องไปซื้ออาหารที่มีพิษกลับเข้ามาสู่ครัวเรือน

“ถ้าเกษตรกรคิดแบบนี้กันทั้งหมด เราก็จะได้รับสารเคมีกันทั้งเมืองเพราะฉะนั้นจึงต้องย้อนกลับมาสู่ ก็คือผลิตเพื่อบริโภคเหลือขาย ตรงนี้จะทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง และถ้าโครงการลักษณะนี้ขยายออกไปมากๆ ก็จะยิ่งส่งผลดี การที่เราได้อาหารที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ จะทำให้ชาวพิจิตรแข็งแรง มีสุขภาพดีทั้งกายและจิต ปัญหาทั้งในด้านของสุขภาพ และสังคมก็จะลดลงไปด้วย” น.พ.ประจักษ์ กล่าว

นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ในฐานะหัวหน้าโครงการร่วมให้ข้อมูลว่าจ.พิจิตร ทำนาสูงถึง 2 ปี 7 ครั้งและจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนพิจิตรป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากการกินข้าวและผักที่มีสารเคมี

ตลาดนัดสีเขียวพิจิตรไร้สารพิษ

“คำถามคือ เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรพิจิตรมีชมรมเกษตรธรรมชาติ ปลูกข้าวเป็นหลัก แล้วก็เริ่มหันมาปลูกผักปลอดสารพิษ คำถามต่อมาก็คือ ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน เราจึงเริ่มต้นจากตลาดเล็กๆ เป็นตลาดสีเขียวภายในโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลตั้งอยู่ทุกอำเภอโครงการนี้ไม่เพียงแต่จะมีเกษตรกร ผู้บริโภคและโรงพยาบาลมาร่วมมือกันเท่านั้น แต่ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง เข้ามาร่วมมือให้การสนับสนุนด้วย” หัวหน้าโครงการกล่าว

ล่าสุดทางโครงการจัดงาน “มหกรรมโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” ที่ ร.พ.พิจิตร โดยมีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าและอาหารปลอดสารพิษ พร้อมทั้งสอดแทรกความรู้การดูแลรักษาสุขภาพจาก ร.พ.เครือข่ายทั้ง 5 แห่ง ควบคู่กับการนำเสนอภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในการปลูกพืชผักปลอดสารพิษมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

น.พ.ประจวบมงคลศิริ ผอ.ร.พ.พิจิตร กล่าวว่า จากเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของทาง ร.พ. พบว่าคนพิจิตรมีสารเคมีตกค้างอยู่ในเลือดจำนวนมาก ไม่เพียงแค่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บริโภค ถ้าปล่อยไว้ในระยะยาว จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพกับประชาชนชาวพิจิตรได้ จึงเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผักหรือผลไม้ ที่ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต

“การจัดให้มีตลาดสีเขียวใน ร.พ. เป็นการส่งเสริมสุขภาพในเชิงรุก โดยจะไปกระตุ้นให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ตั้งแต่เรื่องของการส่งเสริมและการป้องกัน โดยใช้ตลาดสีเขียวเป็นเครื่องมือสื่อความรู้ไปยังผู้ผลิตและผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิตเองก็จะเข้าใจว่าถ้าใช้สารเคมีตัวเขาเอง ก็จะได้รับสารเหล่านั้นตกค้างอยู่ในร่างกาย แต่ถ้าหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ก็จะไม่มีสารเคมีตกค้าง รวมไปถึงตัวผู้บริโภคเองก็จะปลอดภัยด้วยเช่นกัน”ผอ.ร.พ.พิจิตร ระบุ

ขณะที่ นางสำอาง ทับบุญ หรือ “ป้าอิ้ง” เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้จาก ต.ทับหมัน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ร่วมเล่าว่า ผลผลิตทุกชนิดในสวนปลูกและดูแลโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะรู้ว่ามีผลเสียต่อสุขภาพของตนเอง และผู้บริโภค ทุกวันนี้จะนำผลผลิตในสวนมาจำหน่ายที่ตลาดสีเขียวที่ ร.พ.พิจิตร, ร.พ.ตะพานหิน และตลาดสีเขียวที่ท่ารถ บขส. ในทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์

ตลาดนัดสีเขียวพิจิตรไร้สารพิษ

“แต่ก่อนต้องนำผลผลิตไปขายให้พ่อค้าในตลาดสดประจำอำเภอ แต่เมื่อมีตลาดสีเขียวแล้วก็ไม่ต้องไปส่งอีกเลย ทุกวันนี้จะขายอาทิตย์ละ 3 วันเท่านั้น ขายดีมาก หมดแทบทุกครั้ง คนที่ซื้อก็รู้ว่าอาหารแบบนี้ดีต่อสุขภาพทั้งคนกินและคนปลูกก็แข็งแรง ไม่ป่วยบ่อยๆ” ป้าอิ้ง กล่าว

โครงการนี้ไม่ได้เฉพาะแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังได้ทั้งสุขภาพทางสังคม จิตวิญญาณ และสุขภาพใจที่ดีอีกด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code