ตรวจสุขภาพก่อนแต่ง ลดป่วยธาลัสซีเมีย
แพทย์แนะลดความเสี่ยงป่วยธาลัสซีเมีย ด้วยการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโลหิตจางทางพันธุกรรม เกิดจากการสร้างฮีโมโกลบินผิดปกติหรือน้อยลง ทำให้เม็ดเลือดแดงผิดปกติและมีอายุสั้น ผู้ป่วยจะมีอาการซีด เลือดจางเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อนตามมา อาทิ กระดูกใบหน้าเปลี่ยน ท้องป่อง ตับ-ม้ามโต หากมีภาวะเหล็กเกิน จากการได้รับยาขับธาตุเหล็ก ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ผิวคล้ำ ตับแข็ง หัวใจล้มเหลว
วันธาลัสซีเมียโลกปีนี้ คณะแพทย์จาก ร.พ.พระมงกุฎเกล้า ชมรมและมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานวันธาลัสซีเมียโลกครั้งที่ 14 หัวข้อ "การเตรียมความพร้อมเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและก่อนการแต่งงาน" สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการแต่งงานลดอัตราผู้ป่วยในอนาคต
รศ.นพ.กิตติ ต่อจรัส รองผอ.สถาบัน วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคธาลัสซีเมีย กล่าวว่า โรคนี้สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมหรือยีน ของธาลัสซีเมียจากพ่อและแม่มาสู่ลูก โดยการถ่ายทอดพันธุกรรมนี้นับว่ามีอัตราสูงอย่างมากในไทย ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร
"จากรายงานพบว่า จากจำนวนคู่สมรสเสี่ยงที่ค้นพบนี้ อาจทำให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นได้ หากว่าคู่สมรสเสี่ยงหรือผู้มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมียคนอื่นๆ ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรค เพราะการที่ร่างกายแข็งแรงและสุขภาพดีนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าจะไม่ได้เป็นพาหะของโรค สิ่งสำคัญที่ช่วยลดอัตราการเกิดผู้ป่วยรายใหม่คือ การวางแผนครอบครัว ด้วยการตรวจเลือดก่อนที่จะวางแผนแต่งงานหรือมีบุตร หากทราบว่าเป็นคู่เสี่ยงของการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการวินิจฉัยหรือป้องกัน"
ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่เข้าสู่วัยรุ่น ควรจะต้องดูแลรักษาสุขภาพ งดการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้า รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และควรกินวิตามินโฟเลต ที่จะช่วยเสริมให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีภาวะเหล็กเกิน สามารถเข้าถึงยาขับเหล็กในรูปแบบยาฉีดดีเฟอร็อก ซามีน และยาดีเฟอริโพรนได้
น.ส.ชุติกร พูลทรัพย์ ประธาน ชมรมธาลัสซีเมียร.พ.จุฬาลงกรณ์ เปิด เผยว่า การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เป็นการรักษาที่หายขาดทำในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ที่ได้รับเลือดเป็นประจำและได้ยาขับเหล็กสม่ำเสมอได้แก่ผู้ป่วย โฮโมซัยกัสเบต้าธาลัสซีเมีย และเบต้าธาลัสซีเมียฮีโม โกลบินอี ข้อมูลจากมูลนิธิ ผลการรักษาด้วยวิธีนี้ตั้งแต่ ปี 2531-2554 ให้การรักษาผู้ป่วย 255 รายพบว่า หายขาด 215 ราย กลับเป็นโรคเดิม 15 ราย และเสียชีวิต 25 ราย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต