ตรวจสอบก่อนซื้อคอร์สความงาม

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ตรวจสอบก่อนซื้อคอร์สความงาม  thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” แนะประชาชนอย่าด่วนตัดสินใจซื้อคอร์สความงาม จากสถานพยาบาลที่ให้บริการเสริมความงาม ขอให้ตรวจสอบสถานพยาบาลว่าขึ้นทะเบียน และแพทย์ที่ให้บริการก่อนทุกครั้ง ว่าได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ ทางเว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และแพทยสภา เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน


นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจความงามเป็นกิจการที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ยังเป็นธุรกิจอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ในปี 2560 และด้วยกระแสนิยมความงามที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะช่วยให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตามจากกระแสนิยมนี้ ก็มักมีผู้ฉกฉวยโอกาส เพราะเห็นแก่รายได้ โดยเฉพาะบริการที่เป็นคอร์สต่อเนื่องกัน


ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการรักษาผิวหน้า ลดริ้วรอยโดยไม่ต้องผ่าตัด และมักจะแข่งขันกันที่ราคา ซึ่งหลายคนอาจตัดสินใจซื้อโดยมิได้ไตร่ตรองก่อน อาจมีความเสี่ยงรับบริการจากผู้ที่ไม่มีความรู้ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้เกิดผลเสีย ทั้งติดเชื้ออักเสบเสียโฉม ซึ่งยากต่อการแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม   สร้างความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิต


นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า ข้อควรระวังก่อนที่จะมีการตกลงซื้อคอร์สความงาม ซึ่งส่วนมากจะมีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม และไลน์ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ โดยภายหลังที่ได้รับข้อมูลแล้วอย่าด่วนตัดสินใจซื้อ ขอให้พิจารณาอย่างรอบด้าน และต้องตรวจสอบมาตรฐานบริการทั้งแพทย์ และสถานพยาบาลว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  โดยแนะนำให้ไปตรวจสอบสถานพยาบาลจริงด้วยตนเอง จะต้องมีหลักฐานครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ปรับปรุงและแก้ไข ฉบับที่ 4 กำหนด


ดังนี้ 1.มีการแสดงป้ายชื่อ และเลขที่ใบอนุญาต 13 หลักที่หน้าสถานพยาบาล 2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล 3.ใบชำระค่าธรรมเนียมสถานพยาบาลเป็นปีปัจจุบัน 4.มีป้ายแสดงอัตราค่าบริการชัดเจน พร้อมมีจุดให้สอบถามอัตราค่าบริการ และให้ตรวจสอบชื่อสถานพยาบาลซ้ำที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) โดยพิมพ์ชื่อสถานพยาบาลเป็นภาษาไทย หากปรากฏชื่อสถานพยาบาลดังกล่าวแสดงว่าได้มาตรฐานจริง


ในส่วนของแพทย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริการในสถานพยาบาล จะต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น  ชื่อ-นามสกุล และรูปถ่ายที่หน้าห้องตรวจในใบผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งต้องตรงกับแพทย์ผู้ให้บริการในขณะนั้น และก่อนรับบริการตามที่นัดหมายทุกครั้ง ขอให้ตรวจสอบชื่อที่เว็บไซต์แพทยสภา ซึ่งจะแสดงสาขาความเชี่ยวชาญของแพทย์ และปีที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งหากไม่พบหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแสดงว่าสถานพยาบาลแห่งนี้อาจใช้หมอเถื่อนให้บริการ ขอให้งดรับบริการ และให้แจ้งมาที่เฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน หรือที่สายด่วน 02 193 7999 กรม สบส. จะดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที


ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า สถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแต่ใช้หมอเถื่อนให้บริการจะมีโทษตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ปรับปรุงและแก้ไข ฉบับที่ 4 ฐานให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบุคคลที่แอบอ้างตนเป็นแพทย์จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรรม 2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Shares:
QR Code :
QR Code