‘ด.เด็ก’เล่นละคร

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์


'ด.เด็ก'เล่นละคร thaihealth


ถ้าจะไล่เรียงปัญหาของเด็กและเยาวชนแล้ว เรื่องของยาเสพติด และประเด็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร น่าจะเป็นประเด็นแรกๆ ที่สังคมเข้าใจ และอยากให้มีการแก้ไข แต่ที่  "บ้านสันทรายน้ำหนึ่ง" อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เยาวชนที่นี่ไม่รอให้ผู้ใหญ่เข้าไปจัดการ พวกเขาใช้วิธีการของ ตัวเองในการรณรงค์ลดปัญหาข้างต้น โดยใช้ละครเป็นเครื่องมือ


และวันนี้ "ด.เด็กเล่นละคร" คือชื่อโครงการที่ชาวบ้านรู้จักกันดี ว่า เยาวชนสันทรายน้ำหนึ่งกลุ่มนี้ เล่นละครเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม สื่อสารเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมถึงประเด็นยาเสพติด โดยหวังให้ทุกฝ่ายร่วมรับรู้ และแก้ไขปัญหาด้วยกัน


ปิยะพงษ์ ปัญญาดา ผู้ประสานงาน กลุ่มเยาวชนสันทรายน้ำหนึ่ง เล่าว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และติดยาเสพติด ในกลุ่มเยาวชน ถือเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรง และต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แต่ด้วยความห่างไกลของพื้นที่และอิทธิพลของสื่อ รวมถึงสภาพสังคมแบบบริโภคนิยม ทำให้พ่อแม่ต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัว ช่องว่างระหว่างคนในครอบครัวจึงถูกถ่างให้ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านความคิด และพฤติกรรม


'ด.เด็ก'เล่นละคร thaihealth


ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจึงได้ชวนเด็กมาตั้งวงคุยกันให้วิเคราะห์ปัญหา และพยายามหาสื่อชนิดหนึ่ง เป็นตัวกลางนำเสนอสถานการณ์ปัญหา ที่ยังรุนแรงอยู่ในปัจจุบันให้คนอื่นเข้าใจ จึงสนใจสื่อการแสดงเป็นพิเศษ และช่วยกันคิดวิธีการนำเสนอรูปแบบละครให้ได้รับความสนใจ เช่น ศึกษาเทคนิคจากยูทูบ และแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นภาคีกัน อาทิ กลุ่มพะเยา ลำปาง ฯลฯ ประกอบกับกลุ่มฮักบ้านเกิด ความสุขอยู่บ้าน บ้านเรา ซึ่งเป็นชุดโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เปิดรับสมัครกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมโครงการจากภาคอีสาน 30 โครงการ ภาคเหนือ 10 โครงการ เพื่อพัฒนาให้เด็กกล้าแสดงออก ทางกลุ่มสันทรายน้ำหนึ่งเห็นว่าแนวทางการทำงานสอดคล้องกัน อยู่แล้ว จึงสมัครเข้าร่วมภายใต้ชื่อโครงการ "ด.เด็กเล่นละคร เพื่อการสื่อสารและสร้างสรรค์สังคม"


"เป้าหมายของโครงการ คือการให้กลุ่มแกนนำเยาวชนขับเคลื่อน ชักจูงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อ.ฝาง ให้มีความรู้เรื่องเพศ ยาเสพติด แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่สองต่อสอง พร้อมกับปลูกฝังเรื่องจิตอาสา ชวนกันไปช่วยงานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ขณะเดียวกันก็ต้องกระจายความรู้ที่ได้ต่อไปยังเพื่อนๆ น้องๆ ในวาระโอกาสที่เหมาะสม เช่น ในวัด ในโบสถ์ ถ้าเขาอยากได้ ถุงยางอนามัย ก็ประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือหากปัญหาหนักเกินกำลัง ถึงขั้นตั้งครรภ์แล้วก็ต้องแนะนำส่งต่อโรงพยาบาลเป็นต้น" ปิยะพงษ์ กล่าว


'ด.เด็ก'เล่นละคร thaihealth


ด้าน วจนะ ไชยพรรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ร่วมเสริมว่า การสื่อสารและเผยแพร่ปัญหาให้เพื่อนเยาวชนและผู้ใหญ่ เข้าใจถึงปัญหา เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายแบบตรงๆ เพราะประสบการณ์ ทัศนคติ ตลอดจนยุคสมัยที่แตกต่างกัน การออกแบบโดยใช้ละครเป็นสื่อจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการตื่นรู้ เกิดความตระหนัก ฉุกคิด และจะได้นำไปสู่การแก้ไขร่วมกัน อย่างถูกต้อง


สำหรับโครงการดังกล่าว ได้กำหนดกิจกรรมหลักไว้ 4 ครั้ง เริ่มจากการประชุม วิเคราะห์ปัญหา จากนั้นจึงเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการละครเร่ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 30 คน ล้วนเป็นกลุ่มเยาวชนแกนนำที่เคยเข้าค่ายด้วยกันมาแล้ว และในโครงสร้างระดับหมู่บ้านคือกลุ่มประธานเยาวชน หรือรองประธาน ทำให้มีพื้นฐานด้านความกล้าแสดงออกอยู่แล้ว


จากนั้นก็เดินหน้าจัดกิจกรรมแสดงละครให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ อ.สันทรายรับชม ก่อนจะขยายต่อไปแสดงละครให้กลุ่มผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชนดู เพื่อจะได้เห็นความสำคัญของปัญหา และช่วยกัน ต่อยอดการทำงานของเด็กๆ ให้ยั่งยืน


"การสื่อสารและเผยแพร่ปัญหาให้เพื่อนเยาวชนและผู้ใหญ่เข้าใจถึงปัญหาเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายแบบตรงๆ"

Shares:
QR Code :
QR Code