ดูแลสูงวัย ป้องกัน ‘พลัดหกล้ม’
ที่มา : มติชนออนไลน์
แฟ้มภาพ
แพทย์เผยการพลัดตกหกล้ม เป็นสาเหตุบาดเจ็บ-เสียชีวิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ชี้ทุกๆ 100 คน จะพลัดตกหกล้ม 30 คนในแต่ละปี
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึง 10 ล้านคน ซึ่งแต่ละปี จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คน และคาดการณ์ว่าปี 2567-2568 จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม จึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยทุกๆ 100 คน ของผู้สูงอายุ จะพลัดตกหกล้ม 30 คนในแต่ละปี ที่สำคัญพบว่าการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มทั้งหมด เป็นผู้สูงอายุถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้ เฉลี่ยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มวันละ 3 คน โดยมี 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1.ปัจจัยเสี่ยงด้านร่างกายและความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็น การเดิน การทรงตัว การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ไขข้ออักเสบ กระดูกพรุน ภาวะซึมเศร้า สมองเสื่อม หลอดเลือดสมอง และพาร์กินสัน เป็นต้น 2.ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม เช่น การใช้ยาบางชนิด การดื่มแอลกอฮอล์ สวมใส่รองเท้าและเสื้อผ้าที่ไม่พอดี 3.ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นและบันไดลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่มีราวจับบริเวณบ้าน บันได และห้องน้ำ
นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการฟกช้ำ รองลงมา คือ อาการปวดหลัง และอาจรุนแรงจนกระดูกหัก ได้แก่ กระดูกข้อมือ แขน และสะโพกหัก หรืออาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุของความพิการ ที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยจำนวนวันของการนอนโรงพยาบาลนานกว่า 8 วัน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลกดทับ แผลติดเชื้อ ข้อติด รวมถึงผลกระทบต่อจิตใจ เช่น กลัวการหกล้มซ้ำ ไม่ยอมเดิน มีภาวะซึมเศร้า ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแล ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง
“การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อพบผู้พลัดตกหกล้ม ควรตั้งสติ ทำการประเมินการบาดเจ็บ หากไม่สามารถขยับและลุกเองได้ หรือเมื่อขยับแล้วรู้สึกปวดสะโพกหรือโคนขา ไม่ควรเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันกระดูกที่หักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และเส้นประสาทข้างเคียง ต้องเข้าเฝือกชั่วคราว แล้วนำส่งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน” นพ.อำนวย กล่าว