ดีเดย์ 8ก.ย. บังคับใช้กฎหมายคุมนมผง

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ 


ดีเดย์ 8ก.ย. บังคับใช้กฎหมายคุมนมผง thaihealth


8 ก.ย. บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 เพื่อให้เด็กไทยกินนมแม่อย่างยั่งยืน ฉลาด มีพัฒนาการสมวัย ฯลฯ


เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าว พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.นมผง) ว่า พ.ร.บ. นมผง ที่จะมีผลบังคับในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็ก โดยควบคุมการส่งเสริมการตลาดผ่านสื่อโฆษณา การลด แลก แจก แถม ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มอัตราทารกได้กินนมแม่ให้ได้ร้อยละ 50 หรือมากกว่านี้ ภายในปี 2568 ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยมีสูตร 1-6-2 คือกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี


นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ 1.ส่งเสริม ช่วยให้แม่ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2.สนับสนุน เช่น แม่ลางานเลี้ยงลูกโดยยังได้รับเงินเดือนเต็ม ผู้ชายลางานเพื่อช่วยเลี้ยงลูก สถานประกอบการจัดมุมนมแม่ และ 3.ปกป้อง คุ้มครองแม่และครอบครัวจากการได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง หรือชวนเชื่อให้ใช้อาหารอื่นทดแทนในช่วงที่ควรได้รับนมแม่ ทั้งนี้ ในวันที่ 18 ก.ย. 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาการสำหรับทารกและเด็กเล็ก (คสตท.) เพื่อวางหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนพิจารณาให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่ รมว.สาธารณสุขในการออกประกาศหรือกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีอีกกว่า 10 ฉบับ ภายใน 180 วัน


นพ.วชิระ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีประกาศ2 ฉบับ สำคัญออกมาก่อน คือ 1.การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยคาดว่าจะแต่งตั้งจากบุคลากรสาธารณสุขในกลุ่มงานส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และรพ.ศูนย์รพ.ทั่วไป และอาจจะดึงภาคประชาสังคมและกลุ่มเอ็นจีโอเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง แต่ระหว่างรอประกาศนี้ให้อธิบดีกรมอนามัยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ไปก่อน และ 2.ประกาศเรื่องการเปรียบเทียบปรับ


นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารสำหรับเด็กเล็กยังสามารถโฆษณาได้ แต่ห้ามเชื่อมโยงมาทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารก โดยแยกฉลากให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และให้เวลาในการปรับเปลี่ยน 1 ปี หลังจากนั้นถ้ายังไม่เปลี่ยนจะมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท และคณะกรรมการฯ ก็อาจพิจารณาออกประกาศควบคุมในภายหลังได้


ด้าน พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการโฆษณาสารอาหารต่างๆ ในนมผงที่ว่าทำให้เด็กฉลาดต่างๆ นั้นถือเป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะปัจจัยที่ทำให้เด็กฉลาด พัฒนาการสมวัยมีหลายอย่างทั้งเรื่องอาหารการกิน การเลี้ยงดูของครอบครัวร่วมด้วย ไม่ใช่ว่ากินนมชนิดนั้นๆ อย่างเดียวแล้วจะฉลาด

Shares:
QR Code :
QR Code