ดันหลักสูตร ‘ลูกเสือ’ เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต

สวท. ร่วมสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จัดโครงการพัฒนาและเผยแพร่หลักสูตรกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต รุ่นที่ 1/2557

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาและเผยแพร่หลักสูตรกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต รุ่นที่ 1/2557 โดยมีวัตถุประสงค์ให้วิทยากรลูกเสือที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือที่พัฒนาขึ้นทั้งในระดับลูกเสือสำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่และวิสามัญ สามารถจัดกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้สามาถนำหลักสูตรไปขยายผลแก่ครูผู้สอนวิชาลูกเสือในพื้นที่ได้ เพื่อนำไปเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาด้วยกระบวนการลูกเสือที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า ทักษะชีวิตมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเมื่อแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือเด็กปกติ เด็กกลุ่มเสี่ยง และเด็กที่มีปัญหาแล้ว แต่ละกลุ่มจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นทักษะชีวิตจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับเด็กทุกคน โดยทักษะชีวิตสร้างได้ด้วย 2 วิธีการใหญ่ๆ คือ 1.เกิดจากการเรียนรู้เองตามธรรมชาติ ขึ้นกับประสบการณ์และการมีแบบอย่างที่ดี จึงไม่มีทิศทางที่แน่นอน และกว่าจะเรียนรู้ก็อาจช้าเกินไป 2. สร้างโดยกระบวนการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่เด็กได้เรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆที่เด็กต้องมีส่วนร่วมทั้งทางร่างกายคือลงมือปฏิบัติ และทางความคิดคือการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกัน ดังนั้น ทักษะชีวิตเป็นแนวคิดด้านการศึกษาที่จะนำมาประกอบเข้ากับการเรียนการสอน โดยเฉพาะสอดแทรกเข้ากับวิชาลูกเสือ เพราะจะสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวอีกว่า หากมองสังคมโดยรอบจะเห็นสภาวะสังคมที่อยู่ในช่วงวิกฤติ มีปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่หากสังคมไหนมีทักษะชีวิตในการเห็นใจผู้อื่นปัญหาต่างๆ ก็จะลดลง อยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความรังเกลียด แต่หากสังคมไหนมีความรังเกลียดปัญหานั้นก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นจึงอยากให้ครูผู้สอนวิชาลูกเสือใส่ใจเรียนรู้กิจกรรมเพื่อนำไปเพิ่มพูนชีวิตชีวาให้กับวิชาลูกเสือ แล้วนำไปขยายผลแก่ครูลูกเสือในพื้นที่ เพื่อนำไปเพิ่มทักษะชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน เพราะหากเด็กมีทักษะชีวิต จะช่วยให้รู้จักการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารกับผู้อื่น มีการตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง รู้จักการจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตนเองได้ และถ้าเด็กมีเจตคติที่ดีอนาคตจะมีความตระหนักรู้ในตน เห็นใจผู้อื่น ภาคภูมิใจในตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำให้หลักสูตรลูกเสือเกิดผลสัมฤทธิ์คือการปรับตัวเพื่อสร้างชีวิตชีวาให้กับการลูกเสือ

ด้าน น.ส.ลัดดา จิตรวัฒนแพทย์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาและเผยแพร่หลักสูตรกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีความเข้าใจในหลักสูตรฯสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่ได้ เพื่อนำไปเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กเยาวชนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความคิดแตกต่าง ซึ่งกระบวนการลูกเสือตามคำนิยามของลูกเสือโลกเป็นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สำหรับเยาวชนเพื่อสร้างเยาวชนที่มีจิตใจเสียสละรับผิดชอบและอุทิศตนแก่สังคมด้วยวิธีการลูกเสือ ซึ่งการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกระบวนการทางการศึกษาส่วนหนึ่งที่มุ่งพัฒนาสมรรถภาพของบุคคลทั้งทางสมอง ร่างกาย จิตใจ และศีลธรรมเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีความประพฤติดีงาม ไม่กระทำตนเป็นปัญหาของสังคมและดำรงชีวิตอย่างมีความหมายและมีความสุข

น.ส.ลัดดา กล่าวอีกว่า วิถีชีวิตที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพเด็กเยาวชนทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเด็กและเยาวชนยังขาดทักษะชีวิต ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม ฉะนั้นหลักสูตรลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตจึงนำเหตุการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งหลักสูตรลูกเสือเดิมใช้วิชาเป็นตัวตั้งในการกำหนดวัตถุประสงค์หลักสูตรและเน้นไปที่ทักษะการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นทักษะที่ใช้ในกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นการจะปรับให้เป็นกิจกรรมลูกเสือเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตจึงใช้เหตุการณ์สำคัญและสภาพปัญหาในชีวิตจริงของเด็กแต่ละวัยมาเป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์หลักสูตร

 

 

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ