“ดนตรี”เสียงแห่งความสุข เสริมพัฒนาการรอบด้าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


"ดนตรี" มีผลต่อสมองของคนเรา เพราะสามารถช่วยพัฒนาระบบภายในสมองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอีกด้วย



แฟ้มภาพ


ล่าสุด ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน จัดกิจกรรม "ดนตรี" มีผลต่อการพัฒนาสมอง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ได้อย่างไร? โดย ดร.สุขพัชรา ซิ้มเจริญ ศึกษา นิเทศน์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านสมองและพัฒนาการเด็กพิเศษ


ดร.สุขพัชรา อธิบายว่า "สมอง" เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำกิจกรรมทั้งหมดของร่างกาย ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว, พฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, สมดุลของเหลวในร่างกาย และ อุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังเกี่ยวข้องกับการรับรู้ อารมณ์ ความจำ การเคลื่อนไหว และความสามารถอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้อีกด้วย


"สมอง" แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.สมองส่วนหน้ามีหน้าที่รับรู้เรื่องอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด การเรียนรู้อย่างมีเหตุผล การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ แขน ขา ใบหน้า 2.สมองส่วนกลาง มีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกประสาทสัมผัสต่างๆ เรื่องมิติ ภาษา 3.กลีบสมอง จะมี หน้าที่ควบคุมการได้ยิน คำพูด พฤติกรรม ความจำ ภาษา และ 4.สมองส่วนหลัง มีหน้าที่ควบคุมการมองเห็นและการจัดการข้อมูลภาพ  ขณะเดียวกันสมองแบ่งเป็น 2 ซีก คือ 1.สมองซีกขวา มีบทบาทในการรับรู้ตอบสนอง และคิดในเรื่องลึกลับ เรื่องดนตรี และศิลปะ การสร้างสรรค์ การสร้างมโนภาพ การคิดค้นรูปแบบต่าง ๆ และยอมรับสมองซีกซ้าย 2.สมองซีกซ้ายมีบทบาทในการรับรู้ตอบสนองและคิดในเชิงเหตุผล การมีลำดับขั้นตอนในการทำงาน การคิด เรื่องการคำนวณ การพูด การใช้รูปแบบ และมีอิทธิพลต่อสมองซีกขวา


ดร.สุขพัชรา กล่าวต่อว่า จังหวะของเครื่องดนตรีมีผลต่อสมองต่างกัน เช่น ดนตรีจังหวะช้า ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จิตผ่อนคลาย เกิดการจดจำได้ดี ในขณะที่ ดนตรีจังหวะเร็ว จะทำให้รู้สึกตื่นตัว และสนุกนาน จะกระตุ้นอารมณ์และสมองให้แจ่มใสมีความสุข


ทั้งนี้ จังหวะดนตรีที่เหมาะสำหรับการพัฒนาสมองควรมีจังหวะ 60-80 ครั้ง/นาที = การเต้นของหัวใจ เป็นจังหวะที่พอดีทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน(Endorphin) หรือสารแห่งความสุขออกมา ทำให้เรามีความสดชื่น มีความตื่นตัว แจ่มใส มีบุคลิกภาพที่ดีมีความสุข ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปตามปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง


"เสียงดนตรีเป็นเสียงที่มีความพิเศษและน่าอัศจรรย์มาก เพราะนอกจากจะเป็นเสียงที่ทำให้ผ่อนคลายและแสดงอารมณ์ต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยในเรื่องของการรักษาทั้งด้านจิตใจและร่างกายพัฒนาสติปัญญา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องสังคมในการขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสได้ โดยทั้งหมดนี้ล้วนสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของทาง สสส.ที่อยากให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา" ดร.สุขพัชรา กล่าว


ด้าน ฉัตรกานต์ ฉิมกุลหรือน้องซาน่าหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า โดยส่วนตัวเป็นคนชอบฟังเพลง เล่นดนตรี เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ชอบ และนอกจากนี้ "การทำงานจิตอาสา" ก็เป็นสิ่งที่ตนชอบมากเช่นกัน ที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมอาสาร่วมกับสสส.หลายโครงการมาก โดยทุกวันหยุดหรือทุกครั้งที่มีโอกาสครอบครัวก็จะพาไปทำงานจิตอาสา เพราะการให้เป็นสิ่งที่สร้างความสุขได้ เมื่อเราเห็นผู้รับมีความสุข เราก็มีความสุข ปัจจุบันครอบครัวก็เป็นสมาชิกของธนาคารจิตอาสาอยู่ด้วย


"ปกติคนเราฟังเพลงก็เพื่อผ่อนคลาย ทั้งความเครียด ความเหงา และทุกครั้งที่ฟังแต่ละเพลงก็จะมีจังหวะที่สะท้อนอารมณ์ต่างกันไป การได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้ความรู้ว่านอกจากเราจะฟังเพลงเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว หากยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม จะทำให้เราได้รับประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงทั้งจิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และความจำ ตลอดจนสุขภาพอีกด้วย" ฉัตรกานต์ ทิ้งท้าย


สำหรับผู้สนใจกิจกรรมจากทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. สามารถติดตาม ได้ที่ www.thaihealthcenter.org หรือ  โทร.08-1731-8270

Shares:
QR Code :
QR Code